จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่สืบทอดประเพณีชักพระมาตั้งแต่โบราณ มีทั้งการชักพระทางบกซึ่งชักลากรถหรือเลื่อนที่ประดิษฐานบุษบกพระไปตามถนนหนทาง กับการชักพระทางน้ำ ซึ่งชักลากเรือบุษบกพระไปตามแม่น้ำลำคลอง บางทีก็ออกสู่ทะเล โดยเฉพาะทะเลสาบสงขลา การชักพระทางน้ำนี้เองเป็นต้นกำเนิดของการเล่นเพลงเรือของภาคใต้ โดยเฉพาะเพลงเรือแหลมโพธิ์ ของจังหวัดสงขลา ที่เล่นสืบทอดประเพณีกันมานานนับร้อยปี
เพลงเรือแหลมโพธิ์ คือเพลงเรือที่มีศูนย์กลางการเล่นอยู่ที่บริเวณแหลมโพธิ์ ซึ่งเป็นแหลมเล็ก ๆ ยื่นลงไปในทะเลสาบสงขลา พื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ อยู่ทางตอนเหนือของหมู่ที่ ๓ บ้านแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า อำเภอ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเพลงที่พวกผีพายเรือยาวร้องเล่นในเรื่อร่วมกับประเพณีชักพระ เพื่อชักลากเรือบุษบกพระไปสู่จุดนัดหมายในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงเรือเช่นเดียวกันกับเพลงเรือที่มีเล่นในภาคกลางของประเทศไทยมีลักษณะเป็นประเพณีราษฎร์ แต่ความน่าสนใจศึกษาเฉพาะกรณีของเพลงเรือแหลมโพธิ์อยู่ที่เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงเรือที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่มีที่ใดเหมือน หากว่าเพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพียงเพลงที่เล่นกันในเรือ ว่าโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวแล้ว เพลงเรือแหลมโพธิ์ก็คงจะแตกต่างจากเพลงเรือของภาคกลางดังกล่าวเพียงพื้นที่เล่นและภาษาในเพลงซึ่งเป็นภาษาถิ่นเท่านั้น แต่เพลงเรือแหลมโพธิ์นอกจากเป็นเพลงเล่นในเรือแล้ว ในส่วนอื่น ๆ จะไม่เหมือนกับเพลงเรือในภาคกลางเลย
เพลงเรือแหลมโพธิ์ จึงเป็นเพลงเรืออีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเพลงเรือนั้นมีเพียงรูปแบบเดียว คือเพลงเรือของภาคกลาง โดยเฉพาะแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทองเท่านั้น
ชื่อเพลงเรือแหลมโพธิ์
เพลงเรือแหลมโพธิ์นี้เรียกชื่อตามสถานที่ที่เป็นจุดนัดหมายที่เรือเพลงชักพระมารวมกัน คือที่แหลมโพธิ์แล้วขึ้นเล่นเพลงเรือกันต่อบนบริเวณแหลมโพธิ์ด้วย
จากการศึกษาเกี่ยวกับชื่อเพลงเรือแหลมโพธิ์ แม้พื้นที่ในเขตอำเภอหาดใหญ่เพียงเขตเดียวก็เรียกชื่นต่าง ๆ กันออกไป เช่นตำบลแม่ทอมจะเรียก “เพลงเรือ” ตำบลคูเต่าเรียก “เพลงยาว” บ้าง “เพลงเรือยาว” บ้าง ตำบลบางกล่ำ บ้านหนองม่วงนั้นเรียกว่า “เพลงยาว” และเรียกเพลงเรือสั้น ๆ ขนาด ๒ – ๓ กลอนจบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงของพวกขี้เมาว่า “เพลงเรือบก” พระมหาเจริญ เตชะปุญโญ แห่งที่พักสงฆ์บ้านแหลมโพธิ์กล่าวว่า “มีคำเรียกเพลงเรืออีกคำหนึ่งคือคำว่า เพลงร้องเรือ แต่ในจำนวนทั้งหมด คำว่าเพลงยาวเป็นคำที่เรียกที่เก่าแก่ที่สุด” ในเพลง “ชมนมพระ” ของนายพัน โสภิกุล ได้กล่าวถึงชื่อนี้ไว้กลอนหนึ่งว่า “บ้างร้องเพลงยาวรำเพลงต่างต่าง” คำว่า “เพลงยาวนี้” ได้รับการยืนยันจากผู้สูงอายุในพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นคำตัดมาจากคำว่า “เพลงเรือยาว” เพราะแต่เดิมเรือที่ใช้ชักพระและเล่นเพลงนั้นจะเป็นเรือยาวแทบทั้งนั้น ด้วยว่า “เรือยาวเป็นเรือสำหรับพวกผู้ชาย ส่วนเรือสำหรับพวกผู้หญิงนั้นเรียกเรือเพรียว” เรือเหล่านี้มักเป็นของวัด จะมีกันวัดละหลาย ๆ ลำ อย่างวัดอู่ตะเภา วัดคูเต่ามีมากถึงวัดละ ๗-๘ ลำ เพิ่งมาตอนหลังเมื่อมีการตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้านมากขึ้น ความจำเป็นในการใช้เรือน้อยลง เรือเหล่านั้นก็ถูกขายไปเป็นอันมาก แต่เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๗) วัดอู่ตะเภาได้จัดสร้างเรือยาวขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในพิธีชักพระ เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า “เพลงเรือยาว” จึงน่าจะเป็นคำที่เก่ากว่าและชาวบ้านก็ยังคงนิยมเรียกอยู่พอ ๆ กับคำว่า “เพลงยาว” อย่างไรก็ตาม แม้คำว่าเพลงยาวนี้จะเป็นชื่อเก่าของเพลงเรือแหลมโพธิ์ก็ตามแต่หากกล่าวขึ้นมาโดยที่ผู้รับฟังยังไม่ทราบถึงความหมายของผู้กล่าวแล้ว ก็ชวนให้สื่อความผิดไปถึงเพลงยาว ที่หมายถึง กลอนสื่อรักของคนไทยโบราณก็ได้
ส่วนคำว่า “เพลงร้องเรือ” นั้น เป็นคำใหม่กว่า หมายถึงเพลงร้อง ในเรือขณะที่ชักพระแต่คำว่าเพลงร้องเรือนี้ โดยความหมายทั่วไปในจังหวัดสงขลาหรือจังหวัดใกล้เคียงของภาคใต้ หมายถึงเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งในแถบนี้ (บ้านแหลมโพธิ์-ผู้เขียน) เรียก “เพลงชาน้อง” ดังนั้นหากไปเรียกเพลงเรือแหลมโพธิ์ในที่อื่นว่า เพลงร้องเรือแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาการสื่อความเข้าใจได้
คงจะด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว จึงได้เกิดการเรียก “เพลงเรือยาว” “เพลงเรือ” หรือ “เพลงร้องเรือ” เสียใหม่ในปัจจุบันว่า “เพลงเรือแหลมโพธิ์” ซึ่งก็ไม่อาจจะทราบได้ว่าใครเป็นผู้เริ่มต้นเรียกชื่อนี้เป็นคนแรกอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้คำว่า “เพลงเรือแหลมโพธิ์” จะเป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งใช้กันมาไม่นานนักแต่ก็เป็นชื่อที่บอกลักษณะการเล่น ขณะเดียวกันก็ได้บอกพื้นที่ไว้อย่างชัดเจนที่สุด ทั้งจะได้เป็นชื่อที่เข้าใจกันทั่วไป ไม่ต้องเป็นปัญหาให้สับสนกันอีกด้วย ประวัติเพลงเรือแหลมโพธิ์
ปรานี วงษ์เทศ กล่าวว่า “ปัญหาเกี่ยวกับกำเนิดของเพลงพื้นบ้านนับเป็นปัญหาที่ยุ่งยากที่สุด
เราสามารถศึกษาได้จากการสันนิษฐานเท่านั้น” ก็เช่นเดียวกันกับปัญหาเรื่องกำเนิดของเพลงเรือแหลมโพธิ์
เป็นที่เชื่อกันว่าประเพณีการชักพระทางน้ำเป็นต้นกำเนิดการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์การชักพระทางน้ำเกิดขึ้นจาก
ศรัธาของพุทธศาสนิกชนที่มีพื้นภูมิอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำ ไม่มีเส้นทางบกอื่นใดอันอาจจะอัญเชิญพระพุทธรูป
ประดิษฐานบนรถหรือเลื่อนชักลากไปได้ จึงได้คิดหาวิธีใหม่อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนเรือชักลากไปแทน
ซึ่งก็ทำให้ได้รับศรัธาผลสมจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกัน
เรือพระทางน้ำนั้นก็ได้รับการประดับตกแต่งทั้งตัวเรือปละนมพระ (พนมพระหรือมณฑปพระ)
เช่นเดียวกับการชักพระทางบก บางทีอาจจะวิจิตรพิสดารกว่าเรือพระทางบกเสียด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เรือพระน้ำ
ในสมัยโบราณบางลำใช้เรือยาวผูกขนานต่อติดกันถึง ๓ ลำเรือพระยิ่งลำใหญ่เท่าใดก็ยิ่งต้องอาศัยแรงชักลากจากผีพายเรือ
ชักลากมากลำขึ้นเท่านั้นด้วยแรงศรัธาและความเชื่อที่ว่า “เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก” กับความบันดาลใจในความวิจิตรงดงามด้วยศิลปะพื้นบ้านที่แข่งสีสันตัดกันลานตาของเรือพระ กับสีสันของเสื้อผ้าอาภรณ์และหน้าตาของสตรีเพศทั้งที่ไม่อาจไปร่วมในการชักพระ เพียงแค่มายืนส่งสลอนอยู่บนสองฝั่งคลองกับสตรีเพศที่ร่วมลำไปด้วยในกระบวนชักพระนั้น ทำให้คนพื้นบ้านภาคใต้ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผู้ที่มีอารมณ์ทางกาพย์กลอนสูงอยู่แล้วได้เกิดปฏิภาณเป็นถ้อยคำ
ร้อยเรียงดัง ๆ ออกมาคนหนึ่งแล้วคนอื่น ๆ ในกลุ่มก็มีอารมณ์ร่วมรับตามต่อ ๆ กัน เมื่อเห็นว่าการร้องรับกัน
แบบนี้สนุกและทำให้เกิดพลังความฮึกเหิม เป็นสื่อร่วม กำหนดให้ลงผีพายพร้อม ๆ กัน สามารถบรรลุถึงจุดหมาย
ของกิจกรรมชักพระร่วมกันได้ ก็นิยมกันว่าเป็นสิ่งดี เป็นวัฒกรรมแห่งสมัยที่ควรจดจำไว้ปฏิบัติอีกในคราวต่อ ๆ ไป
จนกระทั่งพัฒนามาเป็นเพลงเรือแหลมโพธิ์ในที่สุด
ในชั้นแรก เพลงเรือแหลมโพธิ์คงจะเป็นเพลงกลอนด้นหรือกลอนปฏิภาณที่มีความยาวไม่มากนัก
อาจจะ ๒-๓ กลอน หรือกมากกว่านั้นเล็กน้อย ว่าร้องรับวนเวียนต่อกันไปตลอดทางทั้งไปและขากลับ
เมื่อคิดขึ้นได้ใหม่ก็ค่อยเพิ่มกลอนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะเพลงเรือแหลมโพธิ์มิได้เคร่งครัดในรูปแบบนัก
เพลงที่กลอนขาดไปก็ยังสามารถใช้เล่นได้ ต่อมาจึงได้เตรียมตัวล่วงหน้าจากความงามของเรือพระที่สร้างขึ้นในปีนั้น จากประวัติความเป็นมาของการชักพระจากคนสวยในหมู่บ้าน จากเหตุการณ์ที่ซุบซิบติดอันดับในรอบปี
เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นเพลงกลอนผูกขึ้น เพลงเหล่านี้มักกลอนดี ความหมายดี มีความยาวมาก บางเพลง
เช่นเพลง “ชมนมพระ” ของนายพัน โสภิกุล ซึ่งเป็นเพลงเก่าเพลงหนึ่งมีความยาวถึง ๙๑ กลอน
ทั้งนี้โดยนับจากจำนวนกลอนที่มีอยู่ตามที่ได้บันทึกได้ เมือได้ศึกษารูปแบบและเรื่องราวแล้วเชื่อว่า
เพลงนี้แต่เดิมยังจะต้องมีความยาวมากกว่านี้แน่นอน
ความจริงที่เกี่ยวกับเพลงเรือประการหนึ่งที่ว่า เพลงเรือแหลมโพธิ์นั้น นิยมแต่งเล่นปีต่อปี
ปีใหม่ก็แต่งใหม่ เพราะถือว่าผู้ที่เอาเพลงเก่ามาเล่นใหม่นั้นสิ้นภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ประกอบกับ
สังคมพื้นบ้านไม่ได้เป็นสังคมอนุรักษ์ จึงไม่มีใครคิดสนใจเก็บรักษาไว้ เพลงเก่าจริง ๆ จึงหาได้ยาก
ที่เหลืออยู่ก็จำขาดตก บางทีก็ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ในบรรดาเพลงทั้งหมดในจำนวน ๕๕ เพลงที่เก็บได้
ในขณะนี้ เพลง “ชมเรือพระ” ของนายสังข์ ไชยพูล เป็นเพลงที่เก่าแก่อย่างน้อยก็เกือบ ๒ ชั่วอายุคน
นายสังข์เล่าว่า “....แม่เล่าให้ฟังว่าเพลงนี้มีมาแต่โบราณนานแล้ว” มีบางเพลงที่อาจระบุได้จากเรื่องราวในเพลง
แต่อายุคงไม่ถึง ๑๐๐ จึงไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับอายุของเพลงเรือแหลมโพธิ์นี้ได้
|