ธรรมเนียมนิยมในการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์
                ธรรมนิยมของการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์น่าสนใจไม่แพ้เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ  เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเสมือน
ภาพสะท้อนความเป็นพื้นบ้านในแง่มุมต่าง ๆ  ที่เรายังไม่เคยสัมผัสหรือสัมผัสแล้วแต่ยังไม่ถึงแก่นแท้ของมัน 
ธรรมเนียมนิยมของการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์แยกกันกล่าวให้ชัดเจนเป็น  ๕  ประการดังนี้คือ
           -  วันเล่น  เพลงเรือแหลมโพธิ์จะเล่นจริง ๆ  ก็เฉพาะในวันแรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๑๑อันเป็นวันชักพระ
เพียงวันเดียวเท่านั้น  หมดวันก็สิ้นสุดการเล่นกันในรอบปี  ส่วนก่อนหน้าวันชักพระจะมีซ้อมเล่นกันทั่วไป 
ตั้งแต่วันเดือน  ๑๑  เริ่มแล้ว  และค่อย ๆ  มากขึ้น  ๆ  จนกระทั่งมากที่สุดในวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  อันเป็นวันออกพรรษา 
ดังคำบอกเล่า  ของนายเฮด  แก้วกุลนิลที่ว่า    “.....ยิ่งคืน  ๑๕ ค่ำ  คนเหมือนใบไม้”  ดังกล่าวแล้ว
            -  สถานที่เล่น  การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้นมีจุดที่นัดพบกันจุดสำคัญคือแหลมโพธิ์อันเป็นจุดหมายปลายทาง
ที่เรือพระทุกลำมาหยุดพักเพื่อถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ที่มากับเรือพระแล้วประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  ที่แหลมโพธิ์จึงเป็นสถานที่ที่เพลงเรือทุกลำและจากทุกแห่งในวันนั้นจะต้องขึ้นไปพบกันร้องเล่นเพลงเรือจนกระทั่ง
เสร็จพิธีพระ  อัญเชิญเสด็จพระกลับวัดเรือพระบางวัดอาจไม่กลับวัดเลยทีเดียวก็จะพากันไปต่อที่หาดหอยซึ่งตั้งอย
ู่บนฝั่งปากครองอู่ตะเภาทางทิศตะวันตกของแหลมโพธิ์ไม่ไกลมากนัก  ที่หาดหอยจึงเป็นสถานที่เล่นเพลงเรือ
อีกแห่งหนึ่งที่รองลงไปจากที่แหลมโพธิ์  ที่ว่ารองลงไปก็เพราะว่าหาดหอยไม่ใช่สถานที่เรือพระจะต้องนัดกัน
ไปพบกันทุกำลำเหมือนอย่างที่แหลมโพธิ์นั่นเอง  แต่กล่าวกันว่านอกจากที่แหลมโพธิ์แล้ว  ที่หาดหอยนี่แหละ
เล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์สนุกนัก
           -  วิธีเล่น  ธรรมเนียมนิยมที่เกี่ยวกับวิธีเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์นี้มีหลายประการด้วยกันคือ
           -  เพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่เป็นเพลงปฏิพากย์  ไม่มีการเล่นโต้ตอบกันระหว่างคณะ  นายดำ  มณีภาค  อายุ  ๙๐  ปี 
(พ.ศ. ๒๕๒๗)  อดีตแม่เพลงคนหนึ่งเล่าถึงเรื่องการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ให้ฟังสรุปได้ว่า 
“การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่เจาะจงถึงใครคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะว่ากราดไปทั่ว ๆ  จึงไม่มีการ
โต้ตอบลักษณะปากต่อปาก  คำต่อคำ  อย่างเรือพระลำหนึ่งมีเรือยาวชักลากไป  ๔-๕  ลำ  เรือทั้ง  ๔-๕  ลำ 
ต่างก็ว่าเพลงของตัวเองไป  เพลงลำใครก็นั้นแต่ก็สนุก  เมื่อพบลำอื่นก็จะว่าแข่งเสียงกัน  ไม่โต้กัน”
          -  เพลงเรือแหลมโพธิ์ที่เล่นในเรือ  ซึ่งก็เป็นเรือยาวชักเรือพระนั่นเอง  เรือยาวลำใหญ่ ๆ  จุผีพายได้ถึง  ๒๕  คน  แต่ที่ไม่เป็นเรือยาวซึ่งมีผีพายแค่  ๔-๕  คนก็มี  การเล่นในเรือนี้เริ่มต้นตั้งแต่เริ่มชักลากเรือรพระออกจากหน้าวัด
  จนถึงแหลมโพธิ์  เรือพระวัดใดอยู่ใกล้แหลมโพธิ์ก็มีเวลาอยู่ในเรือน้อยกว่าเรือพระที่วัดอยู่ไกล  แล้วจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่การเล่นเพลงจะขึ้นไปเล่นบนบกด้วย  นั่นคือเมื่อชักพระมาถึงแหลมโพธิ์แล้ว  ช่วงเวลาที่จะเสร็จถวายภัตตาหารเพลพระและพิธีทางศาสนา  เป็นช่วงที่เพลงเรือทุกคณะจะขึ้นมาเล่นสนุกกับบนแหลมโพธิ์  เป็นช่วงการเล่นเพลงที่สนุกไปอีกแบบหนึ่งไม่แพ้การเล่นในเรือ
        -  ไม่มีเครื่องดนตรีใด ๆ  ประกอบการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์  ไม่มีฉิ่ง  กรับหรือเครื่องให้จังหวะ 
ไม่มีแม้แต่เสียงปรบมือ  มีก็แต่เสียงพายที่จ้ำลงในน้ำพร้อม ๆ  กันเท่านั้นเพลงที่เล่าถึงประวัติ  เพลงชมความงาม
  การพายก็มักจะพายจังหวะช้า ๆ  เพลงเสียดสีสังคม  เพลงสะท้องสภาพสังคม  เพลงสนุกตลกขบขัน
  ก็จะลงจังหวะพายเร็ว ๆ  ทำให้เกิดความสนุกสนานคึกคัก
            -  การเริ่มเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ก็ไม่ต้องไหว้ครู  จะเริ่มต้นเพลงตรงไหนอย่างไรก็ได้  ในจำนวน  ๕๕  เพลง
ที่เก็บได้ขณะนี้  พบเพียงเพลงเดียวที่ขึ้นต้นเหมือนกับการไหว้ครู  คือเพลง  “ชักพระเกี้ยวสาว”  ของนายไข่  สุขสวัสดิ์
  อายุ  ๖๖  ปี  (พ.ศ. ๒๕๒๘)  เป็นผู้แต่งและเป็นแม่เพลงเอง  ดังเนื้อร้องที่ว่า

                                                มือข้าทั้งสองยกประคองขึ้นตั้ง
                                                ยกขึ้นเหนือเศียรรั้งตั้งความวันทา
                                                ไหว้พระพุทธพระธรรมได้จำกายา
                                                ทุกค่ำเวลาวันทาชุลี

คนนั่งหน้าคือนางสังข์  ไชยพูล  คนขวามือคือนายเอื้อน  ชนะกูล นักแต่งเพลงและแม่เพลงเรือแหลมโพธิ์ชื่อดัง  จากบ้านหนองม่วง
ที่มา : สนิท บุญฤทธิ์. 2532,10

ในการเริ่มต้นเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์  มีธรรมเนียมนิยมอย่างหนึ่งคือ  การขึ้นต้นกลอนแรกของเพลงต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า 
“ขึ้นข้อ....”  ในความว่า  “ขึ้นข้อต่อกล่าว”  ซึ่งพบมากที่สุด  เช่น
                                ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องราวลากพระ   (เพลงกล่อมเรือลากพระ)
                                ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องสาวสมัย         (เพลงสาวสมัย)
                                ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องเท้าแก้แลน     (เพลงเท้าแก้แลน)
                                                   ฯลฯ                                  ฯลฯ

 

                คำขึ้นต้นด้วย  “ขึ้นข้อ....”  อย่างอื่นก็ยังมีอีก  เช่น  “ขึ้นข้ออธิบาย”  และ  “ขึ้นข้อต่อไป”  เป็นต้น  และมีบ้างที่ขึ้นต้นด้วยถ้อยความอื่นที่มีความหมายทำนอง  “ขึ้นข้อ....”  คือคำว่า  “ยกข้อ....”  ซึ่งก็ได้แก่

                                ยกข้อต่อกล่าวไอ้สาวขายหม้อ                           (เพลงสาวขายหม้อ)
                                ยกข้อขึ้นข้อถึงหมอเมืองนอก                           (เพลงฉีดยา)
                                ยกข้อต่อกลอนเป็นสุนทรเพลงยาว (เพลงชมสาว)
                                ยกข้อตั้งข้อขอนาระพัน                                     (เพลงพันทอง)
                                                  ฯลฯ                                                              ฯลฯ

                อย่างไรก็ตาม  การขึ้นต้นวรรคแรกด้วยคำดังกล่าวมาแล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องแคร่งครัดเป็นแต่เพียงเป็นสิ่งที่
พึงสังเกตไว้เท่านั้น  เพลงส่วนใหญ่ที่ขึ้นต้นด้วยความอย่างอื่นตามใจผู้แต่งเพลงมีเป็นอันมาก
                และอีกประการหนึ่ง  ในการศึกษาเพลงเรือแหลมโพธิ์  จากแม่เพลงหมู่ที่  ๓  ตำบลแม่ทอม  พบว่าเพลง
ของนายไข่  สุขสวัสดิ์  แม่เพลงต้องตั้ง  “อีโหย้”  ๓  ครั้ง  คือ  “โห่  ๓  ลา”   ก่อนที่จะเริ่มต้นเพลง  ซึ่งลูกคู่จะรับว่า
  ฮิ้ว  ดังนี้
                                “อีโหย้........................”    (ลูกคู่รับ)     “ฮิ้ว”
                                “อีโหย้........................”    (ลูกคู่รับ)     “ฮิ้ว”
                                “อีโหย้.........................”    (ลูกคู่รับ)    “ฮิ้ว”

                ในขณะที่เพลงของนายบุญสุข  ช่วยชูสกุล  และแม่เพลงจากหมู่ที่  ๓  บ้านแหลมโพธิ์  ตำบลคูเต่า 
นายเชือน  แก้วประกอบ  และนายพัน  โสภิกุล  ใช้  “อีโหย้”  ต่อเมื่อจบเพลงเท่านั้น  ดังนั้นเพลงกล่อมสาวของ
นายบุญสุข  ช่วยชูสกุล  ที่จบลงว่า
                                “อีโหย้..........................”    (ลูกคู่รับ)     “ฮิ้ว”     (  ๓  ครั้ง   )

อย่างไรก็ตาม  เรื่องการตั้ง  “อีโหย้”  ไม่ว่าตอนเริ่มเพลเรือจบเพลงก็ไม่ใช่เรื่องเคร่งครัดเช่นเดียวกัน
               -  ในการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์บางเพลง  โดยเฉพาะเพลงทำนองเสียดสีและตลกขบขัน  ในคณะมักจะแต่งชุดทำนองแฟนซีหรือชุดตลกขบขันประกอบการเล่นเพลงด้วยการแต่งทำนองแฟนซี
หรือชุดตลกขบขันประกอบการเล่นเพลงนี้  บางทีแม่เพลงแต่งเสียเองบางทีลูกคู่คนหนึ่งคนใดแต่ง  ก็มีเหมือนกันที่เอาคนอื่นที่ไม่ใช่ทั้งแม่เพลงและลูกคู่เข้ามาแต่งประกอบ  และบางทีก็เอาสัตว์  มาเข้าฉากประกอบเพลงดูเป็นการทรมานสัตว์ไปก็มี  การเล่นสนุกสนานแบบนี้จะมีเล่นกันบนแหลมโพธิ์
ในวันชักพระเท่านั้น  เกี่ยวกับเรื่องนี้  นายสังข์  ไชยพูล  ได้เล่าให้ฟังประกอบเพลง  “เท้าเก้าแลน”  ว่า 
“เมื่อก่อน  ถ้าอีก  ๒-๓  วันจะถึงวันชักพระเกิดผมหาแลนเป็น ๆ  ได้สักตัวก็จะผูกไว้  เอาไปด้วยในวันชักพระ  เที่ยวเดินจูงแลนว่าเพลงกันเป็นที่สนุก”
                นายวร  ชูสกุล  ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เล่าถึงเรื่องการแต่งชุดตลกประกอลการเล่นเพลง  “ฉีดยา”  ซึ่งนอกจากเป็นเพลงตลกขบขันแล้วยังสะท้อนภาพสังคมให้เห็นเป็นอย่างดีด้วยว่า  “ปีนั้นผมแต่งเป็นหมอ  ถือเข็มฉีดยาอันโตทำด้วยกระบอกไม้ไผ่  เดินตามหลังลูกคู่ที่เข็นรถเข็นซึ่งมีคนซึ่งสมมติว่าเป็นคนป่วยนอนอยู่  วันนั้นที่แหลมโพธิ์คนเขาดูผมกันทั้งนั้น”๙  และนายวร  ชูสกุลนี่เอง  ที่แหลมโพธิ์  เมื่อวันชักพระปี  พ.ศ.  ๒๕๒๗
  ได้แต่งเพลง  “พรหมสามหน้า”  เป็นแม่เพลงเอง  แต่งชุดตลกประกอบ  โดยเอาลูกคู่  ๓  คนนั่งขัดสมาธิหันหลังเข้าหากันสมมติแทนก้อนเส้าซึ่งเป็นปริศนาของเพลง  “พรหมสามหน้า”  
(ซึ่งปกติพรหมนั้นต้องมีสี่หน้า)  มีลูกคู่คนอื่น ๆ  เป็นผู้ช่วยแบกกระทะกับไกชำแหละแล้วถอนขนเรียบร้อย  ๑  ตัว
  ใช้ประกอบการแสดง  คราวนั้นคณะนายวรไม่ได้เดินว่าเพลง  แต่จะมีการเคลื่อนย้ายไปว่าเพลงเป็นจุด ๆ 
ตั้งแต่  ๑๐.๐๐  น.  จนกระทั่ง  ๑๕.๐๐  น.  เรียกความสนใจจากผู้ที่มาเที่ยวแหลมโพธิ์เป็นอันมาก

เพลงเรือแหลมโพธิ์ที่เนื้อเพลงเสียดสีสังคมมักจะมีการแต่งแฟนซีแสดงประกอบ  (พ.ศ.  ๒๕๓๑)
ที่มา : สนิท บุญฤทธิ์. 2532,21

แฟนซีประกอบเพลง  “ลูบปลวก”  ซึ่งมีเนื้อหา เสียดสีสังคมปัจจุบันที่ลุ่มหลงการเล่นหวยใต้ดิน  (พ.ศ. ๒๕๓๑)
ที่มา : สนิท บุญฤทธิ์. 2532,21

การแต่งเพลง  นิยมกันว่าต้องแต่งเล่นกันปีต่อปี  แต่งเล่นแล้วก็แล้วกันไปปีใหม่ก็แต่งใหม่  เนื่องจากนักแต่งเพลงหรือแม่เพลงเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในทางกลอนอยู่แล้วเห็นอะไรก็สามารถว่าออกมาเป็นกลอนคล้องจองกันได้หมด  ข้อมูลที่จะเอามาแต่งก็จะเปลี่ยนไปหรือมาใหม่ทุกปี  ไม่ว่าจะเป็นความงามของเรือพระ  ความน่ารักน่าชังของหญิงสาว  หรือเหตุการณ์ความเป็นไปในสังคมเหล่านี้ล้วนทำให้ไม่จำเป็นต้องเอาของเก่ามาเล่นใหม่อีกเพระเพลงใหม่ย่อมจะทันเหตุการณ์กว่า  เรียกร้องความสนใจได้มากกว่า  แต่อย่างไรก็ตามเหตุผลสำคัญของการเปลี่ยนเพลงเล่นใหม่ในทุกปีนั้นอยู่ที่ความยึดถือกันมาที่ว่า  “คนที่เอาเพลงเก่ามาเล่นนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ  ด้วยปัญญา”๑๐  ซึ่งนักแต่งเพลงและแม่เพลงจะยอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด
                แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม  การเปลี่ยนเพลงใหม่ทุกปีเป็นสิ่งที่ดี  เพราะทำให้เกิดเพลงใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามกาลเวลา  และจะดียิ่งขึ้น   ถ้าเพลงเหล่านั้นได้ถูกเก็บรักษาไว้ไม่สูญหายไปตามกาลเวลาดังที่เป็นอยู่ด้วย
              -  เนื้อหาของเพลง  อาจกล่าวได้ว่า  เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเน้นไปนางแสดงออกซึ่งศิลปะความงามและสะท้อนภาพสังคม  เพลงเรือแหลมโพธิ์จึงไม่ได้มีเนื้อหาอยู่ในวงจำกัดเฉพาะแต่เรื่องการเกี้ยวพาราสี  ตัดพ้อต่อว่ากันเท่านั้น  เนื้อหาของเพลงเรือแหลมโพธิ์จึงอาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ  ได้คือ  ประเภทชมความงามเรือพระ  ประเภทเล่าประวัติของการชักพระ  ประเภทเชิงชู้ทำนองเกี้ยวพาราสี  แทะโลม  ตัดพ้อต่อว่า  ประเภทสะท้อนภาพสังคม  โดยเฉพาะสังคมชาวบ้านในแง่มุมต่าง ๆ  ตั้งแต่เรื่องซุบซิบนินทา  เศรษฐกิจไปจนถึงเรื่องตลกขบขันและรวมทั้งเรื่องความเชื่อด้วย  เพลงเรือแหลมโพธิ์จึงน่าจะเป็นเพลงลูกทุ่งขนานแท้ทีเดียว

 

<<< PREVIOUS    NEXT >>>