ธรรมเนียมนิยมในการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์

                ในการเริ่มต้นเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์  มีธรรมเนียมนิยมอย่างหนึ่งคือ  การขึ้นต้นกลอนแรกของเพลง
ต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า  “ขึ้นข้อ....”  ในความว่า  “ขึ้นข้อต่อกล่าว”  ซึ่งพบมากที่สุด  เช่น
                                ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องราวลากพระ   (เพลงกล่อมเรือลากพระ)
                                ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องสาวสมัย         (เพลงสาวสมัย)
                                ขึ้นข้อต่อกล่าวเรื่องเท้าแก้แลน     (เพลงเท้าแก้แลน)
                                                   ฯลฯ                                  ฯลฯ

                คำขึ้นต้นด้วย  “ขึ้นข้อ....”  อย่างอื่นก็ยังมีอีก  เช่น  “ขึ้นข้ออธิบาย”  และ  “ขึ้นข้อต่อไป”  เป็นต้น  และมีบ้างที่ขึ้นต้นด้วยถ้อยความอื่นที่มีความหมายทำนอง  “ขึ้นข้อ....”  คือคำว่า  “ยกข้อ....”  ซึ่งก็ได้แก่

                                ยกข้อต่อกล่าวไอ้สาวขายหม้อ                           (เพลงสาวขายหม้อ)
                                ยกข้อขึ้นข้อถึงหมอเมืองนอก                           (เพลงฉีดยา)
                                ยกข้อต่อกลอนเป็นสุนทรเพลงยาว (เพลงชมสาว)
                                ยกข้อตั้งข้อขอนาระพัน                                     (เพลงพันทอง)
                                                  ฯลฯ                                                              ฯลฯ

                อย่างไรก็ตาม  การขึ้นต้นวรรคแรกด้วยคำดังกล่าวมาแล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องแคร่งครัดเป็นแต่เพียงเป็น
สิ่งที่พึงสังเกตไว้เท่านั้น  เพลงส่วนใหญ่ที่ขึ้นต้นด้วยความอย่างอื่นตามใจผู้แต่งเพลงมีเป็นอันมาก
                และอีกประการหนึ่ง  ในการศึกษาเพลงเรือแหลมโพธิ์  จากแม่เพลงหมู่ที่  ๓  ตำบลแม่ทอม  พบว่า
เพลงของนายไข่  สุขสวัสดิ์  แม่เพลงต้องตั้ง  “อีโหย้”  ๓  ครั้ง  คือ  “โห่  ๓  ลา”   ก่อนที่จะเริ่มต้นเพลง 
ซึ่งลูกคู่จะรับว่า  ฮิ้ว  ดังนี้
                                “อีโหย้........................”    (ลูกคู่รับ)     “ฮิ้ว”
                                “อีโหย้........................”    (ลูกคู่รับ)     “ฮิ้ว”
                                “อีโหย้.........................”    (ลูกคู่รับ)    “ฮิ้ว”

                ในขณะที่เพลงของนายบุญสุข  ช่วยชูสกุล  และแม่เพลงจากหมู่ที่  ๓  บ้านแหลมโพธิ์  ตำบลคูเต่า
  นายเชือน  แก้วประกอบ  และนายพัน  โสภิกุล  ใช้  “อีโหย้”  ต่อเมื่อจบเพลงเท่านั้น  ดังนั้นเพลงกล่อมสาว
ของนายบุญสุข  ช่วยชูสกุล  ที่จบลงว่า
                                “อีโหย้..........................”    (ลูกคู่รับ)     “ฮิ้ว”     (  ๓  ครั้ง   )

อย่างไรก็ตาม  เรื่องการตั้ง  “อีโหย้”  ไม่ว่าตอนเริ่มเพลเรือจบเพลงก็ไม่ใช่เรื่องเคร่งครัดเช่นเดียวกัน
               - ในการเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์บางเพลง  โดยเฉพาะเพลงทำนองเสียดสีและตลกขบขัน  ในคณะมักจะแต่งชุดทำนองแฟนซีหรือชุดตลกขบขันประกอบการเล่นเพลงด้วยการแต่งทำนองแฟนซ
ีหรือชุดตลกขบขันประกอบการเล่นเพลงนี้  บางทีแม่เพลงแต่งเสียเองบางทีลูกคู่คนหนึ่งคนใดแต่ง  ก็มีเหมือนกันที่เอาคนอื่นที่ไม่ใช่ทั้งแม่เพลงและลูกคู่เข้ามาแต่งประกอบ  และบางทีก็เอาสัตว์  มาเข้าฉากประกอบเพลงดูเป็นการทรมานสัตว์ไปก็มี  การเล่นสนุกสนานแบบนี้จะมีเล่นกันบนแหลมโพธิ์
ในวันชักพระเท่านั้น  เกี่ยวกับเรื่องนี้  นายสังข์  ไชยพูล  ได้เล่าให้ฟังประกอบเพลง  “เท้าเก้าแลน”  ว่า 
“เมื่อก่อน  ถ้าอีก  ๒-๓  วันจะถึงวันชักพระเกิดผมหาแลนเป็น ๆ  ได้สักตัวก็จะผูกไว้  เอาไปด้วยในวันชักพระ  เที่ยวเดินจูงแลนว่าเพลงกันเป็นที่สนุก”
                นายวร  ชูสกุล  ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เล่าถึงเรื่องการแต่งชุดตลกประกอลการเล่นเพลง  “ฉีดยา”  ซึ่งนอกจากเป็นเพลงตลกขบขันแล้วยังสะท้อนภาพสังคมให้เห็นเป็นอย่างดีด้วยว่า  “ปีนั้นผมแต่งเป็นหมอ  ถือเข็มฉีดยาอันโตทำด้วยกระบอกไม้ไผ่  เดินตามหลังลูกคู่ที่เข็นรถเข็นซึ่งมีคนซึ่งสมมติว่าเป็นคนป่วยนอนอยู่  วันนั้นที่แหลมโพธิ์คนเขาดูผมกันทั้งนั้น”๙  และนายวร  ชูสกุลนี่เอง  ที่แหลมโพธิ์  เมื่อวันชักพระปี  พ.ศ.  ๒๕๒๗ 
ได้แต่งเพลง  “พรหมสามหน้า”  เป็นแม่เพลงเอง  แต่งชุดตลกประกอบ  โดยเอาลูกคู่  ๓  คนนั่งขัดสมาธิหันหลังเข้าหากันสมมติแทนก้อนเส้าซึ่งเป็นปริศนาของเพลง  “พรหมสามหน้า”  
(ซึ่งปกติพรหมนั้นต้องมีสี่หน้า)  มีลูกคู่คนอื่น ๆ  เป็นผู้ช่วยแบกกระทะกับไกชำแหละแล้วถอนขนเรียบร้อย  ๑  ตัว 
ใช้ประกอบการแสดง  คราวนั้นคณะนายวรไม่ได้เดินว่าเพลง  แต่จะมีการเคลื่อนย้ายไปว่าเพลงเป็นจุด ๆ 
ตั้งแต่  ๑๐.๐๐  น.  จนกระทั่ง  ๑๕.๐๐  น.  เรียกความสนใจจากผู้ที่มาเที่ยวแหลมโพธิ์เป็นอันมาก

เพลงเรือที่ขึ้นเล่นบนบริเวณแหลมโพธิ์ผู้เล่นจะแบกไม้พายเรือเป็นสัญลักษณ์เดินร้องเพลงกันไปเป็นหมู่
ที่มา : สนิท บุญฤทธิ์. 2532, 11

-           - การแต่งเพลง  นิยมกันว่าต้องแต่งเล่นกันปีต่อปี  แต่งเล่นแล้วก็แล้วกันไปปีใหม่ก็แต่งใหม่  เนื่องจากนักแต่งเพลงหรือแม่เพลงเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในทางกลอนอยู่แล้วเห็นอะไรก็สามารถว่าออกมาเป็นกลอนคล้องจองกันได้หมด  ข้อมูลที่จะเอามาแต่งก็จะเปลี่ยนไปหรือมาใหม่ทุกปี  ไม่ว่าจะเป็นความงามของเรือพระ  ความน่ารักน่าชังของหญิงสาว  หรือเหตุการณ์ความเป็นไปในสังคมเหล่านี้ล้วนทำให้ไม่จำเป็นต้องเอาของเก่ามาเล่นใหม่อีกเพระเพลงใหม่ย่อมจะทันเหตุการณ์กว่า  เรียกร้องความสนใจได้มากกว่า  แต่อย่างไรก็ตามเหตุผลสำคัญของการเปลี่ยนเพลงเล่นใหม่ในทุกปีนั้นอยู่ที่ความยึดถือกันมาที่ว่า  “คนที่เอาเพลงเก่ามาเล่นนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ  ด้วยปัญญา”๑๐  ซึ่งนักแต่งเพลงและแม่เพลงจะยอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด
                แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม  การเปลี่ยนเพลงใหม่ทุกปีเป็นสิ่งที่ดี  เพราะทำให้เกิดเพลงใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามกาลเวลา  และจะดียิ่งขึ้น   ถ้าเพลงเหล่านั้นได้ถูกเก็บรักษาไว้ไม่สูญหายไปตามกาลเวลาดังที่เป็นอยู่ด้วย
           - เนื้อหาของเพลง  อาจกล่าวได้ว่า  เพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเน้นไปนางแสดงออกซึ่งศิลปะความงามและสะท้อนภาพสังคม  เพลงเรือแหลมโพธิ์จึงไม่ได้มีเนื้อหาอยู่ในวงจำกัดเฉพาะแต่เรื่องการเกี้ยวพาราสี  ตัดพ้อต่อว่ากันเท่านั้น  เนื้อหาของเพลงเรือแหลมโพธิ์จึงอาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ  ได้คือ  ประเภทชมความงามเรือพระ  ประเภทเล่าประวัติของการชักพระ  ประเภทเชิงชู้ทำนองเกี้ยวพาราสี  แทะโลม  ตัดพ้อต่อว่า  ประเภทสะท้อนภาพสังคม  โดยเฉพาะสังคมชาวบ้านในแง่มุมต่าง ๆ  ตั้งแต่เรื่องซุบซิบนินทา  เศรษฐกิจไปจนถึงเรื่องตลกขบขันและรวมทั้งเรื่องความเชื่อด้วย  เพลงเรือแหลมโพธิ์จึงน่าจะเป็นเพลงลูกทุ่งขนานแท้ทีเดียว

 
<<< PREVIOUS     NEXT >>>