การเชิดสิงโต
เชิดสิงโต เป็นการละเล่นของชาวจีนเหนือ และจีนใต้ ทางเหนือนิยมเล่นกันในช่วงตรุษจีน ส่วนทางจีนใต้นิยมการเชิดสิงโตมากกว่า นอกจากจะเล่นกันในช่วงมีงานแห่เจ้าแล้ว แม้แต่พิธีเซ่นสังเวยเพื่อขอฝนหลังงานเทศกาลงานชุนนุมใหญ่ ก็จะต้องมีรายการเชิดสิงโตด้วย

          การเชิดสิงโตของชาวจีนใต้ครึกครื้นและโลดโผนกว่าทางเหนือมากนัก เมื่อใกล้ถึงวันตรุษจีน ก็จะมีชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งจัดให้มีการเชิดสิงโต ซึ่งเรียกว่า ? ซิ่งฮุ่ย? โดยไปขอเงินบริจาคจากพวกคหบดี และก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งจัดเครื่องดนตรี และเตรียมทำตัวสิงโตสำหรับวันงานเมื่อเตรียมงานแล้วผู้จัดงานก็จะประกาศเส้นทางที่ขบวนสิงโตจะผ่านให้ชาวบ้านทราบ
พอวันงานมาถึงหัวหน้าทีมจะนำเอาสิงโตไปแสดงความเคารพต่อคหบดี และมือกลองก็เริ่มตีกลอง จากนั้นก็เริ่มแสดงการเชิดสิงโต เมื่อมีบ้านใดนำเอาซองรางวัลไปแขวนไว้บนยอดไม้ ยิ่งสูงเท่าใด ผู้แสดงก็ต้องต่อตัวกันขึ้นไปเพื่อเอาซองรางวัลนั้น การเชิดสิงโตแบบนี้เรียกว่า ? ซิ่งจือไชชิง?

          สิงโตที่เชิดนี้มักทำด้วนแกนไม้ไผ่ปะด้วยกระดาษสี แล้วใช้ผ้าปักไหมทำเป็นตัวสิงโต มีการเชิดอีกแบบหนึ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่า เรียกว่าชุดสิงโตกินประทัด เนื่องจากการเชิดชุดนี้ สิงโตต้องกินประทัดตลอดเวลา ดังนั้นหัวสิงโตจึงต้องทำด้วยวัสดุแบบใหม่ คือใช้ดินเหนียวพอกลงบนแกนไม้ไผ่ แล้วติดด้วยกระดาษเสา ส่วนตัวมังกร ก็ทำด้วยผ้าลายราคาถูก ๆ ผู้เชิด สิงโตไม่ใส่เสื้อ ใส่แต่กางเกง ใส่รองเท้าฟางและพันน่องด้วยผ้า 5 สี เมื่อผ่านบ้านใครเจ้าของบ้าน ก็จะโยนประทัดใส่ สิงโตต้องอ้าปากรับ และผู้เชิดก็จะไม่ถอยหนียอมรับความร้อนจากประทัดนั้น เมื่อทนไม่ไหวก็อาจจะมีผู้เชิดอื่น มาเปลี่ยน บางครั้งเมื่อหัวสิงโตถูกประทัดมาก เกิดความร้อนจนต้องเอาน้ำไปพรมแล้วก็เชิดต่ออีก ชาวจีนเชื่อว่า ยิ่งให้สิงโตกินประทัดดังเท่าใดและมากเท่าใด การค้าที่บ้านก็ยิ่งจะรุ่งเรืองเท่านั้น
ที่มณฑลกวางตุ้ง ชาวจีนนิยมเชิดสิงโตกันทุกอำเภอ โดยมักฝึกฝนการเชิด มีสำนักฝึกอาวุธ โดยมีอาจารย์ผู้สอนมวยเป็นผู้ฝึกให้ในยามว่าง สิงโตกวางตุ้งจะเป็นยุ่ยซือ เซ่าซือ เล่าซือ ซึ่งแปลว่า สิงโตสิริมงคล สิงโตหนุ่ม สิงโตแก่ ยุ่ยซือมีอีกชื่อหนึ่งว่า สิ่งซือ แปลว่าสิงโตที่ตื่นแล้ว ก็คือ สิงโต ที่สามารถให้สิริมงคลนั้นเอง สิงโตที่มีอายุมากและผ่านประสบการณ์มากคือ สิงโตเล่าซือ จะเห็นได้จากท่าทาง หน้าสีเขียวเขี้ยวยาว หนวดเป็นสีเทา เมื่อสิงโตสิริมงคลและสิงโตหนุ่ม เดินผ่านสิงโตแก่ต้องแสดงความเคารพ โดยหลีกทางให้ แต่หากสิงโตแก่ 2 ตัว มาประจันหน้ากันก็จะต้องมีการต่อสู้กันขึ้นจนต้อง มีผู้กล้าหาญผู้หนึ่งมาเจรจาให้สงบลงได้การเชิดสิงโตของกวางตุ้งจะมีท่าทางต่าง ๆ มาก ผู้เชิดต้องมีความสามารถเป็นพิเศษ เช่นสิงโตทำท่าก้มมอง รีรอ เดินวนรอบ ท่าดุดัน ท่างอตัว คุกเข่า ท่านอน บางครั้งก็มีการเชิดชุดสิงโตออกจากถ้ำด้วย

          ชาวจีนแคะก็มีการเชิดสิงโตเช่นกัน สิงโตของกลุ่มภาษาจีนนี้จะมีสิงโต สิงโตหัวมังกร สิงโตของชาวจีนแคะแบ่งเป็นสิงโตหน้าเขียวและหน้าแดง สิงโตหน้าเขียวเป็นสิงโตที่มีความสามารถ เทียบได้กับสิงโตแก่ของชาวกวางตุ้ง สิงโตชาวจีนแคะนิยมทำตาให้เคลื่อนไหวไปมาได้ มีคิ้วมีขนตาสวยงามทั้งหน้าสิงโตและหางสิงโตก็จะตกแต่งด้วยสีสันสวยงาม และใส่ลูกกระพรวนที่หางอีกด้วย ส่วนสิงโตของชาวจีนแต้จิ๋ว มักประดับหัวมังกรด้วยผ้า 5 สี และประดับหน้ามังกรด้วยสีสันสวยงาม
มีคนเชิดหัวสิงโต 1 คน หางสิงโต 1 คน นอกจากนั้นก็จะมีคนแต่งตัวเป็นตุ๊กตา หัวโต หน้าสีแดง ใส่เสื้อขลิบชายด้วยสีสวยงาม ตัวสั้น มือขวาถือลำไม้ไผ่ มือซ้ายถือพัดใบตาลมักแสดงในช่วงตรุษจีนและงานฉลองต่าง ๆ เช่นกัน (หวง หวา เจี๋ย เขียน
ผศ.พรพรรณ จันทโรนานนท์ ผู้เเปล)

กำเนิดการเชิดสิงโต
                สิงโตเป็นสัตว์ในนิยายของจีน  ถือว่ามีความดุร้ายและมีพลังมาก  นับเป็นสัตว์จ้าวป่าที่บรรดาสัตว์อื่นเกรงกลัวมาก
                ตามตำนานจีนกล่าวว่า  การเชิดสิงโตมีกำเนิดขึ้นใน  รัชสมัยพระจักรพรรดิเคี่ยนล่งกุ๋น  (เคียนลุง  หรือสำเนียงไทยว่าเขียนหลง)  แห่งราชวงศ์เช็ง  (พ.ศ.  2279-2338)
                มีเรื่องราวเล่าสืบกันมาว่า  วันหนึ่งจักรพรรดิเคี่ยนล่งกุ๋นเสร็จบอกขุนนาง  มีสัตว์ประหลาดตนหนึ่งรูปร่างคล้ายหมาจูขนาดใหญ่  กระทำปาฏิหาริย์ลอยมาในอากาศเบื้องทิศบูรพา
                ครั้นถึงหน้าท้องพระโรง  ก็ลอยตัวลดต่ำลงมาลงหยุดอยู่หน้าพระที่นั่น  แล้วก้มศีรษะลง  แสดงอาการกราบบังคม  3  ครั้ง
                เหตุดังกล่าวยังความตกตะลึงแก่บรรดาขุนนางและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นอันมาก  แต่ยังไม่ทันที่ขุนนางเหล่านั้นจะได้กระทำอะไร  สัตว์ประหลาดตัวนั้นก็ลอยขึ้นสู่อากาศ  และหายไปทางทิศเดิม

สมญานามให้ว่าเป็นสิงโต
                เมื่อทุก ๆ  คนหายตกตะลึงแล้ว  จึงกล่าวขานกันในหมู่ขุนนางน้อยใหญ่  แต่ไม่มีใครทราบว่าเป็นสัตว์อะไร
                แต่มีอำมาตย์ผู้เฒ่าท่านหนึ่ง  เป็นนักปราชญ์ทรงคุณวุฒิสมอายุได้กราบบังคมทูลว่า
                “สัตว์นี้เป็นสัตว์ประเสริฐ  มีพลังและอานุภาพมาก  มีนามว่า  “สิงโต”  มักจะไม่ปรากฏตัวให้ใคร ๆ  ได้พบเห็นง่ายนัก  แต่การที่มาปรากฏตัวแล้วกระทำอาการถวายบังคมพระองค์  ก็คงเป็นด้วยบุญบารมีของพระองค์  ซึ่งเป็นจักรพรรดิผู้เลิศกว่ากษัตริย์ทั้งหลายมิฉะนั้น  สิงโตดังกล่าวจักไม่มาปรากฏตัวให้ได้พบเห็นเป็นแน่แท้และการที่สิงโตมาถวายบังคมพระองค์ถึง  3  ครั้ง  ย่อมเป็นการมาถวายพระพร  และมาชื่นชมพระบารมีของพระองค์นั่นเอง..”
                จักพรรดิเคียนลุง  ทรงสดับคำจากอำมาตย์ผู้เฒ่าดังนั้น  ก็ทรงปิติโสมนัสยิ่งนัก  และตรัสสรรเสริญสิงโตตัวนั้นเป็นอันมาก
                ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ชาวจีนจึงทำการประดิษฐ์รูปหัวสิงโตขึ้นแล้วฝึกหัดคนเชิดคนเล่น  เพื่อไปถวายพรแก่บุคคลต่าง ๆ  ในเทศกาลวันปีใหม่  (ตรุษจีน)  บ้าง  วันเกิดของขุนนางจีนบ้าง  ทำทีเหมือนผู้นั้นวันนั้นเป็นผู้มีบุญวาสนาและบารมี  จึงได้มีสิงโตมาอวยพรให้ดุจดังสิงโตได้มาถวายพระพรแด่จักรพรรดิเคียนลุง  ฉะนั้นแลฯ
                ท่านผู้ใดจะเชื่อถือการที่สิงโตมาอวยพระให้  แล้วจะมี  อายุ  วรรณะ  สุข  พละ  พร้อมด้วยจตุรพร  4  ประการหรืออย่างไรเราไม่ว่ากัน  แต่ขอเตือนว่า  ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
                รับรู้ไว้ก็ดี  เพราะไม่ได้ใส่บ่าแบกหามให้หนักแต่อย่างใดแต่เท่าที่ทราบมาจริง ๆ  การเชิดและสิงโต  มีกำเนิดครั้งแรกในบ้านเมืองไทยเรา  คือในสมัยรัชกาลที่  1  ดังได้กล่าวมาให้ทราบแล้วนั้น
                ปัจจุบันนี้  การเล่นเชิดสิงโตที่โด่งดังมาก  จนมีชื่อเสียงดังทะลุฟ้าเมืองไทย  เห็นจะได้แก่  คณะเชิดสิงโตแห่งจังหวัดนครสวรรค์

<<< PREVIOUS      NEXT >>>