สิงโตคณะหนึ่ง ๆ  มีประมาณ  7  คน  กล่าวตามวิธีการสมัยก่อนเขาจะให้คนหนึ่งถือกระดาษแดง  มีตัวอักษรจีนเขียนว่า  ซิมชุน  กิมไซป่ายแปลว่าปีใหม่สิงโตทองไหว้  เมื่อถึงบ้านใครที่จะไปไหว้ก็ให้กระดาษแผ่นนี้แก่เจ้าของบ้านใบหนึ่ง  นอกจากนี้  ก็มีคนตีม้าล่อเสีย  2  คน  ตีฉาบ  1  คน  ตีกลอง  1  คน  กับคนถือหัวสิงโตและถือหางรวม  2  คน
                การตีกลองตีม้าล่อนี้ได้ยินมาว่าเข่ามีธรรมเนียมอยู่เหมือนกัน  ไม่ใช่สักแต่ว่าตีกันโผ่งผ่างดังแสบแก้วหูเฉย ๆ  การตีม้าล่อหรือล่อโก๊นี้เขามีอันดับชั้นเหมือนกับการยิงสลุต  คือเขาแบ่งเป็นจังหวะ ๆ  ถ้ายศอยู่ในอันดับ  3  เขาก็ตีระยะแรกเพียง  3  คือ  ผ่าง  ผ่าง  ผ่าง  แล้วจึงตีผ่าง ๆ  ติด ๆ  กันเสียงทีหนึ่ง  ถ้าเป็นยศชั้น  7  ก็ตีผ่าง ๆ  ช้า ๆ  7  ครั้ง  แล้วจึงตีผ่าง ๆ  ติด ๆ  กันคั่นเสียที่หนึ่ง  และในขณะที่แห่ไปนั้นก็ตีจังหวะช้า ๆ  เรื่อยไปแต่จวนจะถึงบ้านผู้ใดจึงตีจังหวะเร็วเป็นการบอกให้เจ้าบ้านรู้ตัว  เมื่อถึงบ้านที่กำหนดไว้จึงให้สิงโตทำท่าไหว้เจ้า  คือเชิดหัวขึ้นแล้วก้มหัวต่ำลงเป็นการคำนับ  3  ครั้ง  ตอนนี้ม้าล่อตีรัว  3  ครั้ง  ตามท่าสิงโต
                คณะสิงโตนอกจากพวกจีนแคะแล้ว  ตามคำเล่นของ  พระประทัดสุนทรสาร  ว่ามีคณะของคนไทยอีกคณะหนึ่งชื่อ  นายถนอม  แต่อยู่ได้ไม่กี่ปีก็เลิก  ภายหลังมีของพวกจีนแคะอั้งยี่ตั้งขึ้นอีก  2  คณะคือ  คณะเม่งสูนอยู่ตรอกวัดพลับพลาชัย  กับคณะขุ้นเอง  อยู่ตรอกอาเนี่ยเก็ง  ที่สำเพ็ง  2  คณะนี้เป็นคณะใหญ่เพิ่มขึ้นจาก  7  คน  เป็น  20  คน  มีนักมวยถือกระบองดูน่ากลัวมากขึ้น  ต่อ ๆ  มาก็มีสิงโตของจีนเกือบทุกภาษาคือ  จีนไหหลำ  จีนกวางตุ้ง  เมื่อมีคณะมากขึ้นรายได้ก็น้อยลง  เพราะคนที่จ่ายสตางค์เขาเห็นมีกันหลายคณะนักก็ต้องเฉลี่ยกันไป  เลยเป็นเหตุให้เกิดวิวาทแย่งกันถึงขนาดตีรันฟันแทงกันล้มตาย  ทางการเห็นว่าคณะสิงโตก่อความวุ่นวายจึงออกระเบียบให้เล่นเฉพาะกลางวัน  และต้องขออนุญาตเสียก่อน  กลางคืนห้ามเล่นเด็ดขาด  และคณะหนึ่งให้มีคนได้ไม่เกิน  6  คน  เมื่อถูกห้ามกวดขันขึ้นเช่นนี้  คณะสิงโตก็หมดกำลังใจแล้วล้มเลิกกันไปในที่สุด

      

ในตอนต้นกล่าวว่าสิงโตชอบวิ่งไล่ลูกบอลทำให้นึกถึงรูปสิงโตตามประตูวัดจะเห็นว่าเขาทำเป็นสิงโตเอาเท้าเหยียบลูกบอลไว้  ลูกบอลนี้บางท่านก็ว่าเป็นเครื่องหมายแทนพระอาทิตย์  แต่มีเรื่องเล่ากันว่าสิงโตผลิตนมจากอุ้งเท้า  ด้วยเหตุนี้พวกชาวบ้านจึงเอาลูกบอลกลวง ๆ  ไปวางไว้ตามภูเขา  ด้วยหวังว่าเมื่อสิงโตคลึงลูกบอลเล่นก็จะได้น้ำนมจากลูกบอล  การที่มีลูกบอลกลม ๆ  ที่เท้าของสิงโตจึงอาจมาจากความเชื่อนี้ก็ได้
                อนึ่ง  การเล่นสิงโตมังกรนั้นไม่ได้มีเฉพาะในเทศกาลตรุษจีนเท่านั้นในสมัยรัชกาลที่  5 ก็เคยปรากฏว่าเล่นในงานพระเมรุด้วย  เช่น  เมื่อวันที่  10  มีนาคม  พ.ศ.  2427 งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็มีทั้งรำโคม  สิงโต  มังกร  และวันหนึ่งในจดหมายเหตุจดไว้ว่ามีสิงโตจีนบู๊ด้วย  เข้าใจว่าจีนบู๊เป็นเจ้าของคณะ  และคงจะมีชื่อเสียงอยู่สักหน่อย

‘สิงโต’ สัญลักษณ์แห่งความมีโชค

การเชิดสิงโตมงคลกลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ของจีน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปัดเป่าวิญญาณร้ายและพลังงานที่ไม่ดีออกไป พร้อมทั้งดึงดูดโชคลาภและความเจริญรุ่งเรืองเข้ามา มีตำนานมากมายเล่าถึงที่มาของการเชิดสิงโตจีน และตลอดเวลาหลายร้อยปี ลักษณะของสิงโตที่ใช้เชิดรวมทั้งท่วงท่าในการกระโดดและโผนทะยานของสิงโตก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

           ทุกวันนี้การเชิดสิงโตก็ยังคงเป็นที่ติดตรึงใจผู้คนมากมาย และคณะสิงโตก็มักจะถูกเชิญ หรือว่าจ้างให้ไปเฉลิมฉลองในโอกาสแห่งความสุขต่างๆ พร้อมกับลูกหลานชาวจีนที่มีสำนึกในวัฒนธรรมอยู่ทั่วโลก
                             สำหรับในประเทศไทยสิงโตได้เข้ามาในรัชสมัยของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งชาวจีนในสมัยนั้นได้เข้ามาค้าขายในแผ่นดินสยามและเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาชาวจีนเหล่านั้นได้ทำสิงโตมาเชิดแสดงต่อหน้าพระที่นั่งให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทอดพระเนตร เพราะความเชื่อของชาวจีนเชื่อว่าผู้ใดได้ชมการเชิดสิงโตจะมีโชคลาภ เจริญรุ่งเรืองเป็นสิริมงคล นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการแสดงสิงโตก็ได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันประมาณ 400 กว่าปีแล้ว(ตรุษจีน เทศกาลแห่งความมีโชค)
 
<<< PREVIOUS      NEXT >>>