การไหว้เจ้า
การไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ
ไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย”
ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย”
ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย
ไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง
ไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย”
ไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์
ไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย”
ไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย”
          ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย” โป๊ย คือ 8 โจ่ย แปลว่า เทศกาล โป๊ยโจ่ย จึงหมายความว่า การไหว้เจ้า 8 เทศกาล ซึ่งนอกจากการไหว้เจ้า 8 เทศกาลนี้แล้ว บางบ้านอาจมีวันไหว้พิเศษกับเจ้าบางองค์ที่นับถือศรัทธา คือ
ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่น การไหว้วันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่า “ทีกงแซ” หรือ “ทีตี่แซ” ก็ได้ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน
ไหว้อาเนี้ยแซ คือ ไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือ วันที่ 19 เดือน 2, วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9
ไหว้แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3
ไหว้เทพยดาผืนดิน คือ ไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3
ไหว้อาพั้ว “อาพั้ว” คือ พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก วันเกิดอาพั้ว หรือ “อาพั้วแซ” ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี
ไหว้เจ้าเตา ไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า “ไหว้เจ๊าซิ้ง”
การไหว้เจ้าพิเศษนี้ แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละบ้านและแล้วแต่ความจำเป็น เช่น ถ้าที่บ้านไม่มีเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องไปไหว้อาพั้ว หรือถ้าที่บ้านไม่ได้ทำนาทำไร่ก็ไม่มีที่ และไม่มีความจำเป็นต้องไหว้โท้วตี่วิ้ง หรือเทพยดาผืนดิน
                
เมื่อพูดถึงการไหว้เจ้า จะหมายถึงการไหว้เจ้าที่กับไหว้บรรพบุรุษ เครื่องเซ่นสำหรับไหว้เจ้าที่จะจัดเป็น 1 ชุด
เครื่องเซ่นสำหรับบรรพบุรุษจะจัดเป็นอีกชุดต่างหาก การไหว้จะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้เจ้าที่ก่อน พอสายหน่อยจึงจะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของไหว้จะมีของคาว ของหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม โดยมีกับข้าวคาวเพิ่มเข้ามาสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีธรรมเนียมว่าต้องให้มีของน้ำ 1 อย่าง เช่น แกงจืด

     

                                                                              เหงิ่งเตี๋ย สำหรับไหว้เจ้า
         ที่มา : ประเพณีธรรมเนียมจีน. 2543, (12)                             ที่มา : ประเพณีธรรมเนียมจีน. 2543, (10)

มงคลอาหารไหว้
กับข้าวไหว้บรรพบุรุษทำไมมักเหมือนกันทุกครั้ง  เช่น  ลูกชิ้นปลาผัดต้นกระเทียม  เป๊าฮื้อน้ำแดง  ขนมกุ๊ยช่าย ฯลฯ  เป็นข้อบังคับเหมือน  หมู  เป็ด  ไก่  หรือเปล่า  คำตอบคือ
 เมนูกับข้าวไหว้เจ้า  หลายบ้านจะคล้ายๆ กัน  เพราะนิยมทำกับข้าวที่มีความหมายมงคล  ก็เหมือนที่คนไทยนิยมมีขนมมงคล  ๙ อย่างในเครื่องขันหมาก  มีขนมทองหยิบ  ทองหยอด  ในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่
 อย่างไรก็ตามแต่ละบ้านอาจไหว้เมนูไม่เหมือนกัน  และการแปลความหมายก็อาจต่างกัน  การคิดเหมือนคิดต่าง  การทำเท่ากันหรือไม่เท่ากันในเรื่องธรรมเนียมของแต่ละบ้านนั้นเป็นเรื่องธรรมดา
  เพราะคนจีนและคนไทยต่างก็มีพื้นความคิดที่เหมือนกันว่ากับข้าวคาวหวานที่ใช้ไหว้หรือทำบุญ  นิยมเลือกที่มีความหมายมงคล
 ชุดของไหว้ที่เป็นของคาว  ๕ อย่าง  ได้แก่  หมู  ไก่  ตับ  ปลา  และกุ้งมังกร  (ต่อมากุ้งมังกรหายาก  จึงเปลี่ยนเป็นเป็ดสำหรับคนจีนแต้จิ๋ว  และเปลี่ยนเป็นปลาหมึกแห้ง  สำหรับคนจีนแคะ)
  หมู  มีความหมายถึงความมั่งคั่ง  ด้วยความอ้วนของตัวหมู  สะท้อนถึงความกินดีอยู่ดี
 ไก่  มีมงคล  ๒  อย่างคือ
 ๑.  หงอนไก่สื่อถึงหมวกขุนนาง  ความหมายมงคลจึงเป็นความก้าวหน้าในงาน
 ๒.  ไก่ขันตรงเวลาทุกเช้า  สะท้อนถึงการรู้งาน
   ตับ  คำจีนเรียกว่า  กัว  พ้องเสียงกับคำว่า  กัว  ที่แปลว่าขุนนาง
 ปลา  คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า  ฮื้อ  โดยมีวลีมงคล  อู่-ฮื้อ-อู่-ชื้ง  แปลว่า  ให้เหลือกินเหลือใช้  ไหว้ปลาเพื่อให้มีเงินเหลือกินเหลือใช้มาก ๆ
 กุ้งมังกร  ไหว้ด้วยรูปลักษณ์ของกุ้งที่หัวใหญ่  มีก้ามให้ความรู้สึกถึงอำนาจวาสนา
 ชุดกับข้าว  หลากหลายอย่าง  บางบ้านเหมือน  บางบ้านต่าง  ซึ่งก็ไม่เป็นไร
 ๑.   ลูกชิ้นปลา จีนแต่จิ๋วออกเสียงว่า  ฮื้อ-อี๊  แปลว่า  ลูกปลากลมๆ
  ฮื้อ  หรือปลา  คือให้เหลือกินเหลือใช้
  อี๊  แปลว่า  กลมๆ  หมายถึงความราบรื่น
  ๒.  ผัดต้นกระเทียม  เพราะคนจีนแต้จิ๋ว  เรียกกระเทียมว่า  สึ่ง  พ้องเสียงกับสึ่งที่แปลว่านับ  ไหว้ต้นกระเทียม  เพื่อให้มีเงินมีทองให้ได้นับอยู่เสมอ
  ๓.  ผัดตับกับกุยช่าย  ตับคือ  การเรียกว่า  กัว  พ้องเสียงกับกัวที่แปลว่า  ขุนนาง  กุยช่ายเป็นการพ้องเสียงของคำว่ากุ่ย  แปลว่า  แพง  รวย
๔.  แกงจืด  คนจีนเรียกว่า  เช็ง-ทึง  เช็ง  แปลว่า  ใส  หวาน  ซดคล่องคอ  การไหว้น้ำแกงก็เพื่อให้ชีวิตลูกหลานหวานราบรื่น
๕.  เป๊าฮื้อ  เป๊า หรือ เปา  แปลว่า  ห่อ  ส่วน ฮื้อ  คือเหลือกินเหลือใช้  ไหว้เป๊าฮื้อ  เพื่อห่อความมั่งคั่เหลือกินเหลือใช้มาให้ลูกหลาน
๖.  ผัดถั่วงอก  คนจีนแต้จิ๋วเรียกถั่วงอกว่า  เต๋าแหง๊  แต่ภาษาวิชาการเรียกว่า  เต้าเหมี่ยว  เหมี่ยว  แปลว่า  งอกงาม  ไหว้ถั่วงอกเพื่อให้งอกงามรุ่งเรือง
๗.  เต้าหู้  เป็นคำเรียกแบบชาวบ้านที่อาจเรียกเป็นเต้าฮกก็ได้  ฮก  คำนี้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว  จีนกลางออกเสียงเต้าหู้ว่า  โตฟู  ฟู  แปลว่า  บุญ  ความสุข
๘.  สาหร่ายทะเล  เรียกว่า  ฮวกฉ่าย  ถ้าออกเสียงเป็นฮวดไช้  ก็แปลว่า  โชคดี  ร่ำรวย


       
             โหงวก้วย-ผลไม้ไหว้ 5 อย่าง               ที่มา : จิตรา ก่อนันทเกียรติ. 2540,14
           
                ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย ที่มา : ประเพณีธรรมเนียมจีน. 2543, (11)
                                    <<< PREVIOUS     NEXT >>>