ครั้งพุทธกาลพระภิกษุจุมีผ้าห่มสำหรับตัวตั้งแต่เริ่มบวชเพียงชุดเดียว ประกอบด้วย
สบง จีวร และสังฆาฏิ ผ้าชุดนี้ถือว่าสำคัญมาก เรียกว่าไตรตรอง เมื่อเก่าขาดจึงหาใหม่ได้
สมัยต่อมานอกจากไตรครองแล้ว พระภิกษุยังได้รับอนุญาตให้มีผ้าได้อีก ๓ ผืน
เพื่อผลัดให้พอใช้ ได้แก่ สบง จีวร และผ้าชุบอาบเรียกว่า ไตรอาศัย
ปัจจุบันในเวลาปกติพระจะนิยมใช้ไตรอาศัยเป็นพื้น ไตรครองเก็บไว้ใช้เป็นครั้งคราว
ในงานที่สำคัญ แต่มีกฎว่าเมื่อไปไหนจะต้องนำไตรครองติดตัวไปด้วยเสมอ
หรือถ้าไม่ใช้ก็ต้องเก็บไว้ใกล้ตัวให้อยู่ในหัตถบาส คือสูงต่ำห่างตัวไม่เกินระยะ ๑ ศอก
หากเก็บไว้ห่างจากกำหนดถือว่าอาบัติ
กำหนดเวลาการจัดทำจีวรของพระภิกษุสงฆ์ อยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกว่าจีวรกาล คือต้องหาผ้า ซัก ตัดเย็บ และย้อมให้เสร็จ
ในช่วงเวลานี้ ครั้นเมื่อพระภิกษุไม่ต้องจัดทำจีวรเอง ประชาชนทั่วไปจะถือโอกาสนี้บำเพ็ญกุศล
ด้วยการนำผ้าไตรจีวรมาถวายพระเรียกว่า ทอดกฐิน ส่วนเวลานอกจากทอดกฐินกาล
ก็จะถวายการทอดผ้าป่า การถวายสังฆทานหรือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย
ปัจจุบันพระภิกษุยังมีผ้าอื่นๆ อีกนอกจากผ้าไตรจีวรถือว่าเป็นสิ่งเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง
ได้แก่ผ้ากราบ ใช้สำหรับปูกราบ ผ้าอังสะ ลักษณะเหมือนสไบสตรี เป็นผ้าห่มซับในของพระ
ใช้ห่มเมื่ออยู่ตามลำพังในวัด ถ้าออกนอกวัดต้องห่มจีวรทับ ประคตอก คือผ้าสำหรับรัดผ้าจีวร
ที่ห่มให้แน่นใช้เฉพาะเวลาห่มเฉวียงบ่า
กายพันธ์ หรือรัดประคต ใช้สำหรับรัดขอบสบงให้แน่น มี ๒ อย่างคือ
รัดประคตไส้สุกรและรัดประคตลังกา ผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าพิเศษที่อนุญาตให้ใช้ได้
เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น หากพันฤดูกาลไปแล้วต้องถอนอธิษฐานใช้เป็นผ้าอดิเรกจีวร
การถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่ภิกษุ เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
ผ้ากาสาวพัสตร์ หรือผ้านุ่งห่มของพระภิกษุสงฆ์ที่กล่าวมาแล้วนี้ แม้จะค่อนข้างจำกัดด้วยสีสัน
ขนาด และรูปแบบ แต่ถือว่าทรงซึ่งคุณสมบัติพิเศษคือ ไม่มีความล้าสมัย ใช้ได้ตลอดทุกฤดูกาล
ทุกเทศกาล เป็นเครื่องนุ่งห่มที่ประหยัดเหมาะสมแก่สมณเพศผู้ละซึ่งกิเลสทั้งปวง |