ประโยชน์
การนำผ้ามาตัดต่อกันเป็นจีวรนี้มีประโยชน์ ๓ ประการ
๑.ทำให้เป็นผ้าอันเศร้าหมองด้อยราคา สมควรแก่ภาวะของภิกษุ
๒.ให้เห็นว่าเป็นเครื่องหมายของภิกษุ และป้องกันมิให้ดัดแปลงสี
และรูปแบบนำไปใช้อย่างฆราวาส
๓.ป้องกันไม่ให้ผู้โจรกรรมเอาไปใช้ประโยชน์อื่น
ขนาดของผ้าจีวรในระยะแรกๆ ไม่มีกำหนดแน่นอนคงจะถือตามขนาดร่างกาย
เล็กใหญ่ของภิกษุและตามจำนวนที่ผ้าหาได้ ในพระปาฏิโมกข์สิขาบทที่ ๑๐
แห่งรัตนวรรค ปาจิตติยภัณฑ์ กำหนดว่ากว้าง ๖ คืบ พระสุคต ยาว ๙ คืบ
พระสุคต ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายว่า
ไม่ควรยาวเกิน ๖ ศอก กว้างไม้เกิน ๔ ศอก แต่จะลดลงได้อีกตามขนาดของผู้ใช้
คือถ้าเป็นจีวรของสามเณรก็ลดขนาดลงได้อีก
การนุ่งห่มหรือการครองผ้าของพระมีหลักเกณฑ์วางไว้กว้างๆ ว่า ต้องนุ่งห่ม
ให้เป็นปริมณฑลคือนุ่งห่มให้มิดชิดเรียบร้อย ได้แก่นุ่งปิดสะดือ ยาวปกเข่า
และชายผ้าเสมอกันเวลาอยู่วัดหรือทำสังฆกรรมให้ห่มเปิดไหล่ ถ้าบิณฑบาตหรือ
เข้าบ้านราษฎรต้องคลุมสองบ่า การครองผ้าของพระสงฆ์แทบทุกวันมีธรรมเนียมว่า
เวลาเช้ามืดประมาณ ๔ นาฬิกาเศษเมื่อทางวัดตีระฆัง ๓ ลา ให้พระบวชใหม่ลุกขึ้น
ครองผ้าทำวัตรสวดมนต์โดยการห่มดอง คือจีบผ้าเข้าหากัน แล้วคลี่ออกพอพันตัว
ปิดข้างขวาไว้ ส่วนข้างซ้ายตวัดผ้าที่จีบขึ้นตั้งบนบ่าเบื้องซ้ายที่เปิดช่องไว้
ชายผ้าที่จีบจะคลุมลงมาปิดข้อศอกเบื้องซ้าย จากนั้นนำผ้าสังฆาฏิขึ้นพาดทับบนบ่าซ้าย
แล้วรัดด้วยรัดประคตอกตรงใต้ลิ้นปี่ลงมา สอดชายผ้ารัดประคตให้ห้อยลงทางซ้าย
หรือขวาตามแต่ถนัด หลังจากสวดมนต์ทำวัตรแล้วก็เปลี่ยนครองผ้าใหม่เพื่อออกบิณฑบาต
โดยเปลี่ยนเป็นห่มคลุมบาตรมีสายโยคคล้องไว้กับบ่าขวาอยู่ภายใต้จีวร
หรือบางวัดก็ห่มแหวก อุ้มบาตรไว้ตรงหน้าท้องสุดแต่ความนิยมของแต่ละสำนัก
|