• เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน

            เพลงพื้นบ้านอีสาน มีลักษณะเด่นชัดกับการขับร้องอันเป็นธรรมชาติ บ่งบอกความจริงใจ ความสนุกสนาน และความสอดคล้องกลมกลืนกับเครื่องดนตรีประจำท้องถิ่น คือ แคน แม้การขับกล่อมลูกซึ่งไม่ใช้เครื่องดนตรีใดๆ ประกอบ ก็สื่อให้ผู้ฟังรู้ทันทีว่าเป็นเพลงของภาคอีสาน

            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นดินแดนที่กว้างขวางและมีประชากรมากที่สุดในบรรดา 4 ภาคของไทย เพลงกล่อมลูกจึงมีหลายสำเนียง ถ้าเป็นอีสานตอนเหนือจะมีสำเนียงคล้ายลาว ถ้าเป็นอิสานตอนใต้จะมีสำเนียงคล้ายเขมร แต่เพลงกล่อมลูกที่แพร่หลายและยอมรับว่าเป็นเอกลักษณ์ของอีสานจะเป็นสำเนียงอีสานตอนเหนือ และมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "นอนสาหล่า" หรือ "นอกสาเดอ" หรือ "นอนสาแม่เยอ" มีทำนองลีลาเรียบง่ายช้าๆ และมีกลุ่มเสียงซ้ำๆ กันทั้งเพลงเช่นเดียวกับภาคเหนือ การใช้ถ้อยคำมีเสียงสัมผัสคล้ายกลอนสุภาพทั่วไป และเป็นคำพื้นบ้านที่มีความหมายในเชิงสั่งสอนลูกหลานด้วยความรักความผูกพัน

            ซึ่งมักจะประกอบด้วย 4 ส่วนเสมอ คือ ส่วนที่เป็นการปลอบโยนการขู่และการขอโดยมุ่งให้เด็กหลับเร็วๆ นอกจากนี้ก็จะเป็นคำที่แสดงสภาพสังคมด้านต่างๆ เช่น ความเป็นอยู่ บรรยากาศในหมู่บ้าน ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น คุณค่าของเพลงกล่อมเด็กอีสาน จึงมีพร้อมทั้งทางด้านจิตใจและด้านการศึกษาของชาติ

    ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน

ที่มา : เพลงกล่อมเด็ก http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=7554.0

ภาคอีสาน

นอนเสียหล่า หลับตาแม่สิกล่อม
นอนให้เย๊น ตะเวนแดงแดง
นอนเอาแฮง กินแกงบักเข่า
นอนหลับย๊าว เอาเข่าเอ๊าเคินน......
เอ่ เอะ เอ้ เอ เอ.....

 

  • เพลงกล่อมเด็กภาคกลาง

            เพลงกล่อมเด็กภาคกลางเป็นที่รู้จักแพร่หลายและมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานมากกว่าเพลงกล่อมเด็กภาคอื่น ซึ่งสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้า การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ โดยไม่มีชื่อเฉพาะสำหรับเรียกเพลงกล่อมเด็กภาคกลาง เนื่องจากขึ้นต้นบทร้องด้วยคำหลากหลายชนิดตามแต่เนื้อหาของเพลง นักวิชาการหลายท่านได้ศึกษาแบ่งประเภทเนื่อหาของเพลงกล่อมเด็กภาคกลางไว้คล้ายกัน คือ

    • ประเภทสะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำที่ใช้เรียกลูกว่าเจ้าเนื้อละเอียด เจ้าเนื้ออุ่น เจ้าเนื้อเย็นสุดที่รักสุดสายใจ เป็นต้น
    • ประเภทสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของคนไทยภาคกลางในด้านต่างๆ เช่น ความเจริญทางวัตถุ ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ความศรัทธา ความเชื่อคุณธรรมประจำใจ อารมณ์ขัน และการทำมาหากินของประชาชน
    • ประเภทให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น ความรู้ทางภาษา ธรรมชาติวิทยา วรรณคดี นิทาน ภูมิศาสาตร์ ประวัติศาสตร์ แบบแผนการปกครอง และครอบครัว

            ลักษณะทำนองและลีลาของเพลงกล่อมเด็กภาคกลางจะเป็นการขับกล่อมอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ กลุ่มเสียงก็จะซ้ำๆ เช่นกัน แต่จะเน้นการใช้เสียงทุ้มเย็น และยึดคำแต่ละคำให้เชื่อมกลืนกันไปอย่างไพเราะ อ่อนหวาน ไม่ให้มีเสียงสะดุด ทั้งนี้เพื่อมุ่งให้เด็กฟังจนหลับสนิทในที่สุด

    ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคกลาง
 
ที่มา : เพลงกล่อมเด็ก http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=7554.0


พี่ไปไหน ซื้ออะไรมาฝาก
แหวนทองปนนาค น้องไม่กล้าใส่
แหวนที่พี่ให้ น้องซ่อนไว้ใต้ชายสไบ
น้องไม่กล้าใส่ ไม่มีอะไรตอบแทนพี่....
เอ่ เอ๊...


โอละเห่เอย                          แม่จะเห่ให้นอนวัน
ตื่นขึ้นมาจะอาบน้ำทำขวัญ         นอนวันเถิดแม่คุณ
พ่อเนื้อเย็นเอย                        แม่มิให้เจ้าไปเล่นที่ท่าน้ำ
จระเข้เหรามันจะคาบเจ้าเข้าถ้ำ     เจ้าทองคำพ่อคุณ
 
 (จากหนังสือ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ผศ. ประเทือง คล้ายสุบรรณ์)
 
Previous  Next