ประวัติความเป็นมา (ต่อ)
จากการสันนิษฐานดังกล่าวนี้ การเต้นซัมเปงจึงอาจเกิดขึ้นได้ 3 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่ 1 เกิดขึ้นจากการรับวัฒนธรรมจากพ่อค้าชาวสเปนในระหว่างศตวรรษที่ 16-18 กล่าวคือเมื่อชาวสเปนมีโอกาสเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับบรรดาหัวเมืองมลายูโดยเฉพาะเมืองปัตตานีอันเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นศูนย์กลางในการรับวัฒนธรรมใหม่จากชาวสเปน แล้วเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมือง จึงก่อให้เกิดการแสดงออกทางด้านศิลปะการเต้นรำในลีลาใหม่ที่เรียกว่าการเต้นรำแบบสเปน แล้วค่อยๆเรียกเพี้ยนไปเป็น ซัมเปง
ลักษณะที่ 2 สเปนเป็นชาติตะวันตกชาติหนึ่งที่มายึดครองในเอเชียเป็นระยะเวลาอันยาวนาน โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ สเปนพยายามสร้างฟิลิปปินส์ซึ่งมีชาวพื้นเมืองเดิมเป็นชาวเกาะที่นับถือศาสนาอิสลามให้เป็นตัวแทนของสเปนในภูมิภาคตะวันออก ด้วยเหตุนี้สเปนจึงนำเอาประเพณีวัฒนธรรมตลอดจนสาสนาเข้ามาครอบคลุมชาวพื้นเมือง ศิลปะการแสดงตามแบบฉบับของสเปนจึงปรากฏขึ้นในดินแดนของประเทศฟิลิปปินส์ และเมื่อชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์ได้มีการติดต่อกับชาวพื้นเมืองมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน จึงทำให้นาฎศิลป์การเต้นซัมเปงซึมซาบเข้ามาในดินแดนมลายู
ลักษณะที่ 3 การเต้นซัมเปงอาจเป็นศิลปะในราชสำนักของบรรดาสุลต่านตามหัวเมืองมลายูมาก่อน โดยที่ราชสำนักได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของชาวสเปนมาจากกลุ่มพ่อค้าอาหรับที่เคยขายกับประเทศสเปนโดยตรง และพ่อค้าอาหรับเหล่านี้ได้นำเอาศิลปะการเต้นระบำของชาวสเปนเข้ามาเผยแพร่ แล้วเกิดการผสมผสานกับลีลาการเต้นรำของชาวพื้นเมือง กลายมาเป็นซัมเปงที่ถ่ายทอดสืบกันมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีในระยะแรกนั้นการเต้นซัมเปงน่าจะเกิดขึ้นในราชสำนักของสุลต่านหรือบ้านของขุนนางก่อน เพราะการเต้นแบบนี้เป็นการจับคู่เต้นระหว่างชายกับหญิง และเนื่องจากวัฒนธรรมของชาวมุสลิมไม่นิยมให้หญิงเข้าสังคมกับชายโดยประเจิดประเจ้อ ฉะนั้นหญิงที่จะมีโอกาสฝึกเต้นซัมเปงก็คือบริวารของสุลต่านหรือของขุนนางผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนหญิงอื่นก็ไม่มีโอกาสฝึกกันเลย ในระยะแรกๆจึงนิยมกันในวงแคบๆเท่านั้น ต่อมาก็ค่อยๆแพร่หลายไปสู่ชาวบ้านและเป็นที่นิยมกันมาก
ก่อนนี้เการเต้นซัมเปงซบเซาไปเป็นเวลานาน เพราะขาดการสนับสนุน ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จไปทรงแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ คณะกรรมการสมาคมอิสลามจังหวัดนราธิวาสจึงได้ฟื้นฟูส่งเสริมการเต้นขึ้นอึก เพื่อเต้นถวายทอดพระเนตร และเนื่องจากการเต้นซัมเปงเป็นนาฏศิลป์ที่มีลีลางดงามจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอีกครั้งหนึ่งในปัจจุบันนี้ (ไพบูลย์ ดวงจันทร์. 2523, 175-176)
|