ขนบนิยมในการแสดง
         การเต้นซัมเปงใช้แสดงในโอกาสต้อนรับแขกสำคัญของท้องถิ่น  หรือเต้นโชว์เมื่อเวลามีงานรื่นเริง  ส่วนสถานที่นั้นอาจจะเป็นบนเวทีหรือในลานบ้านตามแต่ความเหมาะสม  และจะแสดงในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ได้ (ไพบูลย์ ดวงจันทร์. 2523, 176)
          การเต้นซัมเปงเป็นการเต้นคู่ชายหญิง  แต่ไม่ใช่เป็นการพาคู่เต้นแบบลีลาศ  หากแต่ต่างคนต่างเต้นเป็นคู่ๆ  ไปตามจังหวะของดนตรี  แต่เดิมนั้นการเต้นซัมเปงมีเพียงคู่เดียวและท่าของการเต้นมีเพียงหนึ่งท่าเท่านั้น  คือท่าที่เรียกว่า  “ปูซิงปันยัง”  ซึ่งเป็นท่าที่หมุนไปรอบๆ  แต่ปัจจุบันนี้จะเต้นกี่คู่ก็ได้  และครูผู้สอนได้คิดประดิษฐ์ท่าเต้นเพิ่มเติมขึ้นมาอีกหลายท่า

          เมื่อดนตรีดังขึ้น  คู่ชายหญิงก็จะออกไปแสดงการเต้นพร้อมกันทั้งหมด  และจะเปลี่ยนยักย้ายยท่าต่างๆ  ไปตามทำนองดนตรีอย่างสวยงาม  เมื่อถึงท่าสุดท้ายดนตรีจะรัวเร็วคึกคะนอง  ผู้แสดงจะเต้นสะบัดปลายเท้าเร็วมากและยิ่งเร็วขึ้นเมื่อดนตรีใกล้จะจบเพลง  และผู้แสดงจะหยุดเต้นพร้อมกันเมื่อเวลาจบเพลงพอดี
          ในการเต้นซัมเปงนิยมแต่งกายหรูหราแบบพื้นเมือง  เช่นเดียวกันกับเวลาแต่งออกงานสังคม  คือผู้ชายจะนุ่งกางเกงทรงคล้ายกางเกงแพรของจีน  สวมเสื้อตือโละบือลางอ  มีผ้าเซอลีแน  และสวมหมวกซอเกาะ  ส่วนผู้หญิงจะแต่งหน้าแต่งผม  นุ่งผ้ากาเอนบือเละ  สวมเสื้อกูลง  มีผ้าคลุมไหล่และมีแหวน  สร้อยคอประดับอย่างสวยงาม (ไพบูลย์ ดวงจันทร์. 2523, 177)

ที่มา : ซัมเปง. http://school.obec.go.th/bangbua/play%20thai/Bangbuaweb/Picture/s3.htm
ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย. 2547. หน้า 65
ที่มา : ใต้...หรอย มีลุย. 2547. หน้า 65
 
          
<<< Home >>>                                <<< Back >>>                            <<< Next >>>