รูปและ/หรือภาพแม่โพสพ
ตั้งแต่ได้ยินแม่ออกชื่อแม่โพสพมาจนถึงก่อนพ.ศ. 2543 ผู้เขียนไม่เคยสนใจว่า
แม่โพสพมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรเป็นพิเศษ เพราะนึกออกว่าเทวดาไทยทั้งฉบับ
หลวงฉบับราษฎร์หากมีผู้วาดเขียนหรือปั้นให้เห็นเป็นรูปก็คงจะใกล้เคียงตัวโขน
ละครอย่างในจิตรกรรมฝาผนังทุกองค์ไป อย่างเก่งก็มีสีกายมีเครื่องทรง อาวุธทรง
สัตว์ทรง แตกต่าง เวลาที่เก็บข้อมูลเรื่องพิธีรับขวัญแม่โพสพก็เก็บเฉพาะบททำขวัญ
อย่างเก่งก็เห็นเครื่องเซ่นวักตั๊กแตนที่ชาวนานำไปปักไปวางไว้กลางนา ไม่เคยทราบ
มาก่อน (อย่างน่าประหลาดใจในความไม่เฉลียวของตนเอง) ว่าในหลายๆ พื้นที่
ชาวนาตั้งรูปแม่โพสพประกอบพิธีด้วยทั้งไม่เคยทราบว่าในยุ้งฉางของชาวบ้าน
ในหลายพื้นที่มีการตั้งหรือแขวนรูปแม่โพสพไว้ประจำ
รูปที่ว่ามีทั้งรูปที่วาดขึ้น พิมพ์ขึ้น ปั้นขึ้น และหล่อขึ้น
ครั้งแรกที่เริ่มสนใจรูปลักษณ์ของแม่โพสพก็คือเมื่อเห็น "พระโพสพ" ในจิตรกรรม
ฝาผนังด้านในเหนือบานประตูหน้าพระอุโบสถวัดสามแก้ว จังหวัดชุมพร เมื่อเดือน
เมษายน พ.ศ. 2543 เป็นภาพวาดแบบสมัยใหม่ออกทางสมจริง (realistic) ผีมือพระยา
อนุศาสน์จิตรกร ช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 เธอนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างพระลักษมี
ชายาพระนารายณ์และพระสรัสวดีชายาพระพรหม เทวีทั้งสามนั่งคุกเข่าประนมมือ
สักการะพระพุทธเจ้าซึ่งแทนด้วยพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ ที่สนใจก็
เพราะเห็นเป็นการแปลก ท่านผู้วาดภาพคงวาดให้สอดคล้องกับตำนานฉบับที่ว่า
แม่โพสพเดิมเป็นชายาองค์หนึ่งของพระอินทร์ ชื่อ พระสวเทวี (เพื่อโยงชื่อโพสพ
เข้ากับชื่อชายาพระอินทร์ นั่นคือให้ สพ แผลงมาจาก สว ส่วน โพอาจจะมาจากชื่อ
ไพสพ ของเทวดารักษาทิศอีสาน) หาไม่แม่โพสพคงไม่มีมีตำแหน่งเฝ้าเทียบเท่า
พระลักษมีกับพระสรัสวดีเป็นแน่นอน (พระอินทร์ หรือ สักกเทวราช เป็นเทวดา
ระดับล่างในศาสนาฮินดู แต่ไทยยกขึ้นเป็นเทวดาสำคัญ มีบทบาทมากกว่าเทวดา
องค์ใดในพุทธประวัติ) อย่างไรก็ตามจิตรกรเรียกชื่อเธอว่า พระโพสพแทนที่จะ
เป็นพระสวเทวีแต่แน่นอนว่าเธอต้องมีรวงข้าวในมือ
รวงข้าว เป็นเครื่องระบุว่ารูปเทวดาที่เห็นไม่ว่าจะเห็นที่ไหน สมัยใด เป็น
แม่โพสพ
ต่อมาจึงตั้งข้อสังเกตว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ที่เห็น
อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมฉายาลักษณ์
พระราชทานคราวเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษาเป็นภาพแม่โพสพ ด้วยเป็น
เทวดาหญิงถือรวงข้าวในมือ ครั้งนี้เป็นจิตรกรรมไทยประเพณี
หลังจากนั้นก็เริ่มสังเกตรูปนางโคสก ประกอบเรื่องเทพเจ้าเกี่ยวกับข้าวและ
การทำนาในหนังสือข้าว วัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลง ของ ผศ. เอี่ยม ทองดี แม้เป็น
ภาพขาวดำก็พออนุมานได้ว่าเป็นรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ ระบายสี เหมือนรูปกุมารทอง
และสัตว์ในนักษัตร ที่หล่อออกจำหน่ายอยู่ทั่วไป อาจารย์เอี่ยมบรรยายไว้ว่า "นางมี
ลักษณะเป็นหญิงสาวท่าทางอ่อนช้อยสวยงาม ภาพของนางที่สร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชา
เป็นท่านั่งพับเพียบ มือขวาถือรวงข้าวมือซ้ายถือถุงข้าว แต่งกายนุ่งผ้าถุงห่มผ้าสไบ
เฉียงแบบหญิงในวังสมัยก่อน"
นางโคสกของอาจารย์เอี่ยมมีลักษณะพ้องกับนางกวัก เทวดาหญิงผู้นำโชค ซึ่งเห็น
ทีไรก็จะนั่งพับเพียบ เท้าแขนเป็นหนูแหวนแขนอ่อนข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งยกขึ้น "กวัก"
มีถุงป้อมๆ คะเนว่าเป็นถุงเงินถุงทองวางบนตักหรือข้างกายทีนั้น ต่างกันแต่นางโคสก
ไม่กวักมือเพราะมือไม่ว่าง กำรวงข้าวอยู่
|
|