วัตถุดิบ

การเตรียมส่วนผสมในการทำกระยาสารทนั้นมีขั้น ตอนต้องกระทำล่วงหน้าหลายเดือน โดยเริ่มจากการปลูกอ้อยในเดือนสาม ราวๆเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อจะนำมาทำน้ำอ้อยในงานนี้โดยเฉพาะ โดยชาวบ้านมักใช้พื้นที่ร่องสวนของตนเพื่อปลูกอ้อย และจะเริ่มตัดอ้อยช่วงหลังเข้าพรรษา ราวเดือน ๘-๙ อ้อยที่ถูกตัดแล้วจะถูกส่งไปโรงหีบอ้อย เพื่อผลิตน้ำอ้อย ซึ่งในสมัยก่อนมีอยู่หลายโรงตามชุมชนต่างๆ แต่ในปัจจุบันแทบไม่หลงเหลืออยู่แล้ว (ที่ตำบลบางพูด อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ยังปรากฏชื่อ “คลองโรงหีบ” อยู่ในปัจจุบัน) น้ำอ้อยที่ได้จากการหีบครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะนำมาประกอบพิธีตักบาตรน้ำผึ้งซึ่งเป็นพิธีของชาวมอญภาคกลาง ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา จัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ส่วนถั่วและงา จะเริ่มปลูกในช่วงเดือน ๒-๓ (มกราคม-กุมภาพันธ์) และเก็บเกี่ยวได้ในเดือน ๖-๗ (พฤษภาคม-มิถุนายน) สำหรับข้าวตอก ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญอีกอย่างหนึ่งนั้น ใช้ข้าวเปลือกเจ้านาปีรุ่นที่เกี่ยวไม่เกินเดือน ๓ ส่วนข้าวเม่ามาจากข้าวที่เกี่ยวตอนยังมีเปลือกอ่อนๆ และเมล็ดสีเขียวยังไม่แก่ เอามาคั่วแล้วตำเป็นเม็ดข้าวแบนๆ ผลผลิตทุกชนิดที่จะนำมาทำกระยาสารท จะต้องเตรียมให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก