ที่มา : http://www.dooasia.com/siam/oldcity/kamphaengphet11.shtml

                พิธีสารทในราชสำนัก
พิธีสารท นอกจากจะเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไปแล้ว ในส่วนของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่าพิธีหลวงนั้น มีหลักฐานกล่าวไว้ในเรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเคยเชื่อกันว่าแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพรวมทั้งนักวิชาการในปัจจุบันเชื่อว่าเพิ่งเขียนขึ้นใน สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง อย่างไรก็ตาม เอกสารฉบับนี้ทำให้เห็นภาพของพระราชพิธีสารทในราชสำนักได้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่าเป็นพิธีของพราหมณ์ในช่วงปลายเดือน ๑๐ เรียกว่า “พิธีภัทรบท” (ภัทรบท มาจากคำว่า ภัททปทมาส หมายถึง เดือนสิบ) หรือการทำบุญกลางปี ซึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์ มีการกวนข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส ทำยาคูด้วยข้าวใหม่ซึ่งออกรวงเป็นน้ำนมทำเพื่อเลี้ยงพราหมณ์ ดังที่กล่าวมาแล้วในช่วงต้น ส่วนพระราชพิธีทางพุทธนั้น มีการทำข้าวมธุปายาสและยาคูถวายพระภิกษุสงฆ์และเลี้ยงพราหมณ์ และบูชาพระรัตนตรัยด้วยธงผ้า แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ ในการกวนข้าวมธุปายาสของราชสำนัก จะทำในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ในโรงพระราชพิธีที่ตั้งขึ้นภายในพระราชวังส่วนผสมสำคัญได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย กะทิ นมสด ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา น้ำตาลกรวด เป็นต้น โดยให้สาวพรหมจารีเป็นผู้กวน ส่วนพระราชพิธีถวายข้าวมธุปายาสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีต่อเนื่องกัน ๓ วัน โดยเริ่มในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระมหาเถระ แล้วบูชาพระรัตนตรัยด้วยธงผ้าสีต่างๆ ฉลุลวดลาย แล้วถวายเครื่องสมณะบริขารและยารักษาโรคแด่พระภิกษุสามเณร จากนั้นทรงหลั่งทักษิโณทกอุทิศส่วนพระราชกุศลแด่พระบรมญาติทั้งหลายในปรโลก ส่วนนางในทั้งหลายก็ต่างคนต่างถวายข้าวมธุปายาสยาคู ธงพวงมาลัย และอุทิศส่วนกุศลแด่หมู่ญาติผู้ล่วงลับ หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในพระราชพิธีภัทรบทครบ ๓ วันแล้ว ก็ทรงให้มีการประชุมพรหมณาจารย์ทั้งหลาย และเลี้ยงข้าวมธุปายาสยาคูต่อไปให้ครบ ๓ วันรวมทั้งพระราชทานเครื่องนุ่งห่มแก่พราหมณ์ทุกคน ส่วนบรรดาสนมนางในก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน การกวนข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส คงมีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้มีการกวนข้าวทิพย์ โดยให้พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในซึ่งเป็นสาวพรหมจารีเป็นผู้ทรงกวน ในบางรัชกาลก็งดพระราชพิธีนี้ไป จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๗๐

               Next