ที่มา : http://13385titiika.blogspot.com/

กระยาสารทในปัจจุบัน

ด้วยสภาพสังคมที่ เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ย่อมส่งผลต่อความพิถีพิถันในการทำอาหารสำหรับเทศกาลต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา กระยาสารทก็เช่นกัน ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ง่าย และผู้ผลิตน้อยรายที่จะใส่ใจขั้นตอนอันละเมียดละไมในการผลิต หาดกวนไม่ดีกระยาสารทจะร่วน ไม่เหนียว หรือมีการใส่แบะแซเพื่อให้เหนียวเร็วยิ่งขึ้น แต่จะทำให้กระยาสารทที่ได้แข็งเกินไป บางครั้งใส่นมและเนยลงไปด้วย เพื่อเพิ่มความหอมมัน ซึ่งทำให้มีสิ่งที่มาจากสัตว์เข้ามาเจือปน ในขณะที่กระยาสารทแบบดั้งเดิมมาจากพืชผลล้วนๆ สมกับเจตนาว่า ทำจากพืชผลแรกได้น้ำอ้อยซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญ ในปัจจุบันหาได้ยากเพราะน้ำอ้อยแท้มีต้นทุนสูงมาก บางแห่งจึงผสมน้ำตาลปี๊บลงไป ซึ่งจะทำให้กระยาสารทหวานจัดและไม่หอมเท่าที่ควร ในปัจจุบันยังพอจะมีผู้ผลิตกระยาสารทที่ใส่ใจในคุณค่าและรสชาติในความเป็น ของแท้ดั้งเดิมได้จากชุมชนหลายแห่งตามจังหวัดต่างๆ ดังจะขอยกตัวอย่างผู้ผลิตในเขตจังวัดปทุมธานี อันได้แก่ หมู่ ๔ ตำบลบางเดื่อ และ หมู่ ๓ ตำบลบางกระดี อำเภอเมือง ซึ่งได้ร่วมกันอนุรักษ์การทำกระยาสารทแบบโบราณ ทั้งในเรื่องของส่วนผสมและกระบวนการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกอ้อยและพืชผลต่างๆ ที่หมู่ ๓ ตำบลบางกระดี ยังมีโรงหีบอ้อยเป็นของตัวเอง ซึ่งชาวบ้านทั้ง ๒ แห่ง เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าชมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอนได้ และวางจำหน่ายกระยาสารทด้วย นอกจากนี้ยังมีกระยาสารท “อำนวยขนมไทย” ของกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย ตำบลคลองความ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้ผลิตกระยาสารทด้วยส่วนผสมและกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นสินค้าของฝากประจำท้องถิ่นมานานกว่า ๑๐ ปี โดยผลิตตลอดทั้งปี ไม่จำกัดเฉพาะหน้าเทศกาลเท่านั้น

 


เอกสารอ้างอิง
ปาริสุทธิ์ เลิศคชาธาร. 2557. กระยาสารท : ภาพสะท้อนความสมบูรณ์ของสังคมเกษตรกรรม. วัฒนธรรม. 53 (4) : 54-59.