การทอดกฐิน ถือเป็นงานบุญที่ได้มีการสืบทอดและปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุญาตและบัญญัติไว้เป็นวินัยสงฆ์ว่าให้ปฏิบัติโดยมี
กำหนดเวลาตามจันทรคติ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
รวมระยะเวลา ๑ เ ดือน หลังจากออกพรรษาแล้ว จากตำนานของการทอดกฐินครั้ง
พุทธกาลมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก กฐินขันธกะว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐา
ประมาณ ๓๐ รูป ถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะนั้น
ประทับอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้น พอถึง
เมืองสาเกตซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ ๖ โยชน์ ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดีเดินทาง
ต่อไปมิได้ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่
ณ เมืองสาเกต เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ดังนั้นพอออกพรรษา
ปวารณาแล้วรีบเดินทาง แต่ระยะนั้นยังมีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำเป็น
โคลนตม ต้องบุกเข้ามาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถี ได้เข้าเฝ้าสมความประสงค์
พระพุทธเจ้าจึงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นถึงเรื่องการจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต
และการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ ความร้อนรนและการเดินทาง
ที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ พระพุทธเจ้าทรงทราบและเห็นความลำบากของภิกษุ
จึงทรงยกเป็นเหตุและมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วน
แล้วกรานกฐินได้ (การลาดหรือทาบผ้าลงไปกับกรอบไม้แม่แบบเพื่อตัดเย็บย้อมทำเป็น
จีวรผืนใดผืนหนึ่ง) และเมื่อกรานกฐินแล้ว จะได้รับอานิสงส์บางข้อตามพระวินัยต่อไป
|