ประเภทของประเพณีการทอดกฐิน

ที่มา : นววรรณ พันธุเมธา. 2551,24.

นอกจากการทอดจุลกฐินแล้ว  ประเพณีการทอดกฐินยังแบ่งออกเป็นประเภท
ต่าง ๆ ได้ดังนี้
                กฐินหลวง  คือ  การที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงรับเรื่องกฐินนี้ขึ้นเป็นพระราชพิธี
อย่างหนึ่ง  ซึ่งทรงบำเพ็ญเป็นการประจำ  เมื่อถึงเทศกาลกฐินพระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญ
พระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นเหตุให้เรียกกันว่า  กฐินหลวง  วัดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็น
วัดหลวงหรือวัดราษฎร์หากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน
แล้วเรียกว่ากฐินหลวงทั้งสิ้น  มิใช่กำหนดว่าทอดที่วัดหลวงเท่านั้น  ต่อมาได้เปลี่ยนไป
ตามภาวการณ์เป็นเหตุให้มีการแบ่งแยกกฐินหลวงออกเป็นประเภทต่าง ๆ  คือ
                กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี  พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้า
พระกฐินด้วยพระองค์เองเป็นประจำ  ณ วัดสำคัญ ๆ  ที่ทางราชการกำหนดขึ้น  ทั้งใน
กรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค  มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไว้
อย่างเรียบร้อย
                กฐินต้น  เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน 
ณ วัดที่ไม่ใช่วัดหลวง  ส่วนมากจะเป็นวัดในต่างจังหวัดและเสด็จฯ  อย่างไม่เป็นทางการ 
เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์
                กฐินพระราชทาน  เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้ที่
กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพื่อไปถวายยังวัดหลวง  นอกจากวัดสำคัญที่ทรงกำหนด
ไว้ว่าจะเสด็จพระราชดำเนิน ด้วยพระองค์เอง  เหตุที่เกิดกฐินพระราชทานเนื่องจาก
ปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก  จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง  ทบวง  กรมต่าง ๆ 
ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคคลที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้และผู้ที่
รับพระราชทานจะเพิ่มไทยธรรมเป็นส่วนตนโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยตามกำลัง
ศรัทธาก็ได้
                กฐินราษฎร์  เป็นกฐินที่ประชาชน  ผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปทอด 
ณ  วัดต่าง ๆ  และจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะของวิธีการทอด  คือ
                กฐิน  เป็นการทอดกฐินของผู้มีศรัทธาเป็นการเฉพาะจะทอด  ณ  วันใดก็ได้
โดยนำผ้ากฐิน  เป็นผ้าผืนเดียวหรือหลายผืนก็ได้เป็นผ้าขาวที่ยังมิได้ตัดออกเป็นชิ้นๆ 
พอที่จะประกอบเข้าเป็นจีวรเมื่อทำเสร็จแล้วจะยังไม่ได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้  จัดอย่าง
ใดอย่างหนึ่งเป็นองค์กฐิน
                กฐินสามัคคี  เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพร่วมหลายคนใครบริจาคมากน้อยเท่าใด
แล้วแต่ศรัทธา  เพื่อไม่ให้การจัดงานยุ่งยากมักมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้น  แล้วมี
หนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น  เมื่อได้ปัจจัยมาเท่าใดก็นำมาจัดผ้าอันเป็นองค์กฐิน 
เมื่อปัจจัยเหลือก็ถวายวัดเพื่อวัดจะได้นำไปใช้จ่ายในการก่อสร้างศาสนสถาน 
การบูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์  เจดีย์  กุฏิ  เป็นต้น  กฐินสามัคคีนี้  ส่วนมากมักนำไปทอด
ยังวัดที่กำลังมีการก่อสร้าง  หรือกำลังบูรณปฏิสังขรณ์  เพื่อเป็นการสมทบทุนให้สิ่ง
อันพึงประสงค์ของวัดสำเร็จไปโดยเร็ว
                กฐินตกค้าง  เนื่องจากอาจมีวัดตกค้างไม่มีใครทอดจึงมักมีผู้ศรัทธาไปสืบเสาะ
หาวัดเพื่อทอดกฐิน  กฐินประเภทนี้จะไม่มีการจองวัดไว้ล่วงหน้าและอาจทอดหลาย
วัดก็ได้  ตลอดจนสามารถนำของไทยธรรมที่เหลือทำเป็นการบุญอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า
 ผ้าป่าแถมกฐิน

 

     Home      Main           ความหมาย              ความเป็นมา              ประเภท               วิธีการทอดจุลกฐิน                        อานิสงส์