โนราโกลนท่าหิน
  ชม ยิ้มย่อง เป็นหัวหน้าโนราคณะหนึ่ง เรียกชื่อคณะว่า”โนราโกลนท่าหิน” และด้วยความที่
นายชมเป็นหัวหน้าโนราคณะนี้ จึงถูกเรียกชื่อเป็น “โนราโกลน” ไปโดยปริยาย คำว่า
“โกลน” หมายถึง ทำพอเป็นรูปเป็นร่างยังไม่เสร็จสมบูรณ์อย่างเรือโกลน เป็นต้น สำหรับโนรา
 ถ้ายังไม่มีผ่านพิธิครอบเทริดอันเป็นพิธีครู ยังรำคล้องหงส์และแทงเข้ไม่ได้ ก็เรียกว่า
 “โกลน” เหมือนกัน  
 นายชมเป็นโนราที่ออกเที่ยวแสดงโดยไม่ผ่านพิธีดังกล่าว บิดาจึงตั้งชื่อว่า “โนราโกลน” และ
เอาคำว่า “ท่าหิน” อันเป็นถิ่นบ้านเกิดมาประกอบเป็นสร้อยนามด้วย เป็น “โนราโกลนท่าหิน”
  นายชม ยิ้มย่อง เป็นบุตรนายแย้ม นางแป้น ยิ้มย่อง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ที่ตำบลท่าหิน
อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จบการศึกษาชั้น ป.4 จากโรงเรียนวัดท่าหิน เมื่ออายุได้ 8 ปี
 เริ่มหัดรำโนราไปพลางเรียนหนังสือไปพลาง ต่อมา พ.ศ. 2480 จึงได้ฝึกรำอย่างจริงจังกับน้า
ที่บ้านภูมี อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา หัดอยู่ประมาณ 3 เดือน ก็สามารถรำท่าพื้นฐานได้
จากนั้นจึงกลับมาตั้งคณะปลูกโรงฝึกซ้อมขึ้นที่บ้านท่าหิน และได้ออกแสดงในที่สุด
   นายชมหรือโนราโกลนท่าหิน  ได้ประชันกับโนราที่มีชื่อเสียงในสมัยเดียวกันหลายคณะ เช่น 
ประชันกับโนราเติมที่วัดเลปัง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำเภอควนขนุน 
จังหวัดพัทลุง ที่วัดควนเพ็ง อำเภอรัตภูมิ  และวัดคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ประชันกับโนราเลื่อน ทะเลน้อย ที่เกาะยวน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ประชันกับ
โนราเปลื้องที่วัดป่าขาดและวัดม่วงงาม อำเภอเมือง (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสิงหนคร) 
จังหวัดสงขลา ประชันกับโนราแปลกขาว ที่วัดยะหา จังหวัดปัตตานี  และประชันกับ
โนราเทพที่วัดคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นต้น
  คณะโนราโกลนท่าหินเที่ยวแสดงจนเป็นที่ชื่นชมของเจ้าเมืองสงขลาๆ จึงได้มอบม่าน
ให้เป็นรางวัล ลักษณะม่านเป็นรูปธงชาติไทยและรับคณะโนราโกลนท่าหินไว้เป็นโนรา
ของหลวง เมื่อเจ้าเรียกใช้ไปแสดงก็ใช้วิธีบอกปาก ไม่มีขันหมากและไม่ต้องตกลง “ค่าราด”
คือค่าจ้างแสดง
    นายชม ยิ้มย่อง แสดงโนราอยู่ ประมาณ 15 ปี สามารถรำได้เกือบทุกกระบวนท่า แต่ไม่ผ่าน
พิธีครอบเทริด ไม่ได้ตัดจุกและไม่ได้แสดง 3 วัด 3 บ้าน จึงเป็นโนราที่ไม่สมบูรณ์เรียกว่า
 “โนราดิบ” หรือ “โนราโกลน” (อุดม หนูทอง)(สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้.2542,1901)

     
     

เอกสารอ้างอิง                   
ภาพพิมพ์  ชุมทอง,           อำนวย สุดสุย. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. โนราโกลน “ คณะ  ไขนวน  ชวนสนุก ” บ้านหนองหว้า อำเภอท่าศาลา  จังหวัดนครศรีธรรมราช.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้. 2542. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

     
             
                   
   
MAIN
ความเป็นมา
เครื่องดนตรี
   เครื่องแต่งกาย                       ลักษณะการแสดง บทร้อง             โนราโกลนท่าหิน      
   
HOME